Abstract:
การกระตุ้นการเกิดใหม่ของเนื้อเยื่อจำเป็นต้องโกรสแฟคเตอร์ (Growth factor) ในการเหนี่ยวนำให้เซลล์ย้ายที่เข้าสู่บริเวณที่มีการสูญเสียเนื้อเยื่อ เนื่องจากโกรสแฟคเตอร์บริสุทธิ์มีราคาสูง จึงทำให้เกิดความสนใจในการใช้โปรตีนและไซโตคายน์ที่มีอยู่ในเซลล์และองค์ประกอบของเลือด ในงานวิจัยนี้ศึกษาการปรับปรุงคุณภาพของโครงเลี้ยงเซลล์โดยใช้ผลิตภัณฑ์จากเลือดมนุษย์ 3 ชนิด ได้แก่ไครโอปรีซิพิเตท (Cryoprecipitate) พลาสมา (Plasma) และเกล็ดเลือดเข้มข้น (Concentrated platelet) โครงเลี้ยงเซลล์ที่ใช้ในการทดลองเตรียมโดยกระบวนการทำแห้งด้วยความเย็นของสารละลายผสมระหว่างผลิตภัณฑ์จากเลือดมนุษย์และสารละลายคอลลาเจน-ไคโตซานที่มีอัตราส่วน 70:30 (กลุ่มควบคุม) โดยที่โครงเลี้ยงเซลล์ที่ถูกปรับปรุงด้วยผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดมีความเข้มข้นของโปรตีนรวมจากสารปรับปรุงแตกต่างกัน 3 ค่า โครงเลี้ยงเซลล์ถูกเชื่อมโยงพันธะด้วยความร้อนภายใต้สภาวะสุญญากาศ (Dehydrothermal crosslink) จากการทดสอบลักษณะสมบัติทางกายภาพและทางกลพบว่า โครงเลี้ยงเซลล์ที่เติมสารปรับปรุงมีขนาดของรูพรุนอยู่ในช่วง 50-225 ไมโครเมตร ความเชื่อมต่อระหว่างรูพรุนเพิ่มขึ้นตามความเข้มข้นของโปรตีนรวมที่สูงขึ้น โครงเลี้ยงเซลล์สามารถรับแรงกดทั้งในสภาวะเปียกและแห้งได้เพิ่มขึ้นตามความเข้มข้นของโปรตีนที่ใช้ปรับปรุงในขณะที่เปอร์เซ็นต์การยืดตัวของโครงเลี้ยงเซลล์ลดลง โครงเลี้ยงเซลล์สามารถรับแรงดึงได้แตกต่างกันขึ้นกับชนิดและปริมาณความเข้มข้นของโปรตีนจากสารปรับปรุง ในการทดสอบความเข้ากันได้ทางชีวภาพด้วยการทดสอบการเพาะเลี้ยงเซลล์ผิวหนังของมนุษย์ (Detroit 551) พบว่าโครงเลี้ยงเซลล์ที่เติมสารปรับปรุงสามารถกระตุ้นการยึดเกาะและการเพิ่มจำนวนได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่ากลุ่มควบคุม ผลดังกล่าวสามารถยืนยันได้ในการเพาะเลี้ยงเซลล์ผิวหนังหนู (L929) บนโครงเลี้ยงเซลล์คอลลาเจน-ไคโตซานและเจลาติน-ไคโตซาน และแผ่นใยโพลีโพรพิลีนไม่สานทอ (non woven polypropylene fabric, PP fabric) ที่ถูกปรับปรุงด้วยสารละลายผสมระหว่างคอลลาเจน-ไคโตซานและผลิตภัณฑ์จากเลือดมนุษย์มีประสิทธิภาพในการเหนี่ยวนำให้เซลล์ยึดเกาะและเพิ่มจำนวนบนแผ่นใยได้มากกว่าแผ่นใยที่เคลือบด้วยสารละลายคอลลาเจน-ไคโตซานเพียงอย่างเดียว นอกจากนั้นในการทดลองปลูกถ่ายโครงเลี้ยงเซลล์คอลลาเจน-ไคโตซานลงในหนูทดลองพบว่า โครงเลี้ยงเซลล์ที่เติมสารปรับปรุงสามารถเหนี่ยวนำให้เซลล์ย้ายที่เข้าสู่โครงเลี้ยงเซลล์ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างชัดเจน และสามารถสังเกตเห็นการเกิดใหม่ของเส้นเลือดและคอลลาเจนขึ้นภายในโครงเลี้ยงเซลล์ โดยที่โครงเลี้ยงเซลล์ที่เติมเกล็ดเลือดเข้มข้นที่มีความเข้มข้นของโปรตีนของสารปรับปรุงเป็น 10.04% โดยน้ำหนัก มีความเหมาะสมที่สุดในการเหนี่ยวนำให้เซลล์ย้ายที่เข้าสู่โครงเลี้ยงเซลล์ ผลการทดลองเหล่านี้แสดงถึงความเป็นไปได้อย่างยิ่งในการใช้ผลิตภัณฑ์จากเลือดมนุษย์เพื่อปรับปรุงคุณภาพของโครงเลี้ยงเซลล์เพื่องานวิศวกรรมเนื้อเยื่อผิวหนัง