Abstract:
การประเมินระยะเวลาหลังการเสียชีวิต (postmortem interval, PMI) มีความสำคัญอย่างยิ่งทางนิติวิทยาศาสตร์ในการการเชื่อมโยงเหยื่อกับผู้ต้องสงสัย ซึ่งสามารถนำหลักฐานทางด้านนิติกีฏวิทยา (forensic entomology) ที่อาศัยความรู้ด้านการกระจายตัว ชีววิทยา และพฤติกรรมของแมลงที่พบบนศพและบริเวณรอบศพมาใช้ในการหาค่า PMI ในประเทศไทยมีข้อมูลการศึกษาทางด้านนิติกีฏวิทยายังไม่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ศพถูกเผาซึ่งไม่มีการศึกษากรณีดังกล่าวที่ประเทศไทย จึงนำมาสู่วัตถุประสงค์ของงานวิจัยคือ ศึกษาลำดับการเข้ากินซากของแมลง เปรียบเทียบอัตราการย่อยสลายของซากหมูถูกเผากับซากหมูไม่ถูกเผา และศึกษาความหลากหลายของแมลงบนซากหมู โดยงานวิจัยทำการศึกษาบริเวณป่าเบญจพรรณของศูนย์เครือข่ายการเรียนเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี โดยใช้หมูน้ำหนักประมาณ 30 - 35 กิโลกรัม เป็นสัตว์ทดลอง ทำการเปรียบเทียบระหว่างซากหมูไม่ถูกเผา และซากหมูถูกเผา พบว่าแมลงหลักที่เข้ามากินซากจัดอยู่ในอันดับ Diptera, Coleoptera และ Hymenoptera โดยในซากหมูไม่ถูกเผามีแมลงวันหัวเขียวเป็นแมลงชนิดแรกที่เข้ามาที่ซากคือ Chrysomya megacephala รวมทั้งเป็นแมลงชนิดหลักที่พบมากที่สุดเช่นเดียวกับ Achoetandrus rufifacies และด้วงหลักที่พบมาที่สุดคือ Catharsius molossus ในส่วนซากหมูถูกเผาพบว่ามดแดงชนิด Oecophylla smaragdina เป็นแมลงชนิดแรกที่เข้ามากินซาก และแมลงชนิดหลักที่พบมากที่สุดคือ ชนิด C. megacephala และ A. rufifacies เช่นเดียวกับซากหมูไม่ถูกเผา และด้วงชนิดหลักที่สุ่มเก็บตัวอย่างได้มากที่สุดคือ Catharsius molossus และ Platydracus sp. ในส่วนของระยะเวลาของการย่อยสลายของซากพบว่าซากหมูไม่ถูกเผามีอัตราการย่อยสลายของซากช้ากว่าซากหมูถูกเผา ทั้งนี้อาจเป็นผลมาจากการที่ซากหมูถูกเผาด้วยไฟทำให้เกิดการย่อยลายเนื้อเยื่อไปบางส่วนอัตราการย่อยสลายของซากจึงเกิดได้เร็วขึ้น