Abstract:
สารประกอบฟีนอลเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชนิดหนึ่งที่ใช้เป็นสารเติมแต่งในน้ำมันหล่อลื่นเพื่อช่วยยับยั้งการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน การวิเคราะห์หาสารต้านอนุมูลอิสระในน้ำมันหล่อลื่นสามารถใช้ในการทำนายอายุการใช้งานของน้ำมันหล่อลื่นได้ งานวิจัยนี้จึงได้ศึกษาเกี่ยวกับการวิเคราะห์ปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระในน้ำมันหล่อลื่นด้วยเทคนิคลิเนียร์สวีปโวลแทมเมททรี และฟูเรียร์ทรานสฟอร์มอินฟราเรดสเปกโตรมีเตอร์ เปรียบเทียบผลการวิเคราะห์พบว่าปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระที่คงเหลือในน้ำมันที่วิเคราะห์ด้วยเทคนิคฟูเรียร์ทรานสฟอร์มอินฟราเรดสเปกโตรมีเตอร์ มีค่ามากกว่าการวิเคราะห์ด้วยเทคนิคลิเนียร์สวีปโวลแทมเมททรี ถึงร้อยละ 96 โดยประมาณ ของตัวอย่างน้ำมันที่ใช้ในการวิเคราะห์ จึงทำการวิเคราะห์ทดลองเพื่อหาความแตกต่างของการวิเคราะห์ทั้งสองเทคนิคด้วยโดยการนำน้ำมันตัวอย่างมาสกัดด้วยตัวทำละลาย green solution ก่อนทำการวิเคราะห์ พบว่าไม่สามารถบอกถึงความแตกต่างของการวิเคราะห์จากทั้งสองเทคนิคได้ ต่อมาได้เติมสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งเป็นสารมาตรฐานที่มีคุณสมบัติเหมือนกับสารเติมแต่งในน้ำมันหล่อลื่นเพื่อดูลักษณะพีคที่เกิดขึ้นจากเทคนิคฟูเรียร์ทรานสฟอร์มอินฟราเรดสเปกโตรมีเตอร์ พบว่าสารต้านอนุมูลอิสระมาตรฐานที่เป็นสารประกอบฟีนอลส่งผลให้ปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระมากขึ้น ส่วนสารต้านอนุมูลอิสระมาตรฐานชนิดอื่น ๆ ไม่มีผลต่อการวิเคราะห์ สุดท้ายได้ทำการหาองค์ประกอบในน้ำมันหล่อลื่นโดยการวิเคราะห์ด้วยเทคนิคแมสสเปกโตรเมทรี ของน้ำมันหล่อลื่นและน้ำมันหล่อลื่นที่สกัดด้วยตัวทำละลาย green solution พบว่าองค์ประกอบของน้ำมันหล่อลื่นเป็นสารโมเลกุลขนาดใหญ่ที่มีหมู่แทนที่แตกต่างกันออกไป และลักษณะสเปกตรัมของน้ำมันที่สกัดด้วยตัวทำละลาย green solution นั้นมีจำนวนองค์ประกอบที่พบ และ intensity ที่มากกว่า แต่อย่างไรก็ตามมวลโมเลกุลเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถบอกได้ว่าองค์ประกอบที่แท้จริงคือสารใด จากการทดลองทั้งหมดจึงยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่าการวิเคราะห์ปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระทั้งสองเทคนิคแตกต่างกันเพราะเหตุใด ดังนั้นการทำนายอายุการใช้งานของน้ำมันหล่อลื่นควรจะใช้ผลการวิเคราะห์จากทั้งสองเทคนิคควบคู่กันไป