Abstract:
การใช้ใบหูกวาง (Terminalia catappa L.) เพื่อรักษาโรคปลากัด (Betta splendens) และปลาหางนกยูง (Poecilia reticulata) เป็นการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เพื่อสนับสนุนแนวคิดและภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยที่สำคัญทีมีการใช้ใบหูกวางในการเลี้ยงปลากัดมาเป็นเวลานาน วัตถุประสงค์หลักของการศึกษาวิจัยในครั้งนี้คือการศึกษาคุณสมบัติด้ายกายภาพ เคมีและชีวภาพ ชนิดของสารออกฤทธิ์และความเป็นพิษของน้ำสกัดใบหูกวางต่อปลากัดและปลาหางนกยูง การศึกษาประสิทธิภาพของน้ำสกัดใบหูกวางต่อการรักษาแผลและโรคติดเชื้อเตตร้าไฮมีนาที่ผิวหนังปลากัดและปลาหางนกยูง การสกัดใบหูกวางแห้งด้วยน้ำเป็นเวลา 3 วัน ที่อุณหภูมิ 28 องศาเซลเซียส จะได้สารละลายใสสีน้ำตาลเหมือนสีชา กลิ่นชา รสฝาด มีปริมาณสารสกัดด้วนน้ำทั้งหมด 15.15 เปอร์เซ็นต์ปริมาณสารสกัดด้วยเอทานอลทั้งหมด 11.53 เปอร์เซ็นต์ องค์ประกอบที่สำคัญทางเคมีที่ตรวจพบในใบหูกวางสีเหลือง ได้แก่ กรดแทนนิค 14.5+-3.2 เปอร์เซ็นต์ รูติน 20+-1.6 มิลลิกรัม/100 กรัม ไอโซเคอร์ซิตริน 12+-1.6 มิลลิกรัม/100 กรัม ทองแดง 0.40+-0.12 มิลลิกรัม/100 กรัม และสังกะสี 2.56+-0.71 มิลลิกรัม/100 กรัม ในขณะที่ใบสีแดงพบองค์ประกอบต่าง ๆ ในสัดส่วนที่มากกว่า ได้แก่ กรดแทนนิค 16.7+-2.6 เปอร์เซ็นต์ รูติน 42.5+-5.8 มิลลิกรัม/100 กรัม ไอโซเคอร์ซิตริน 25+-2.99 มิลลิกรัม/100 กรัม ทองแดง 0.46+-0.1 มิลลิกรัม/100 กรัม และสังกะสี 2.37+-0.34 มิลลิกรัม/100 กรัม การสกัดใบหูกวางด้วยน้ำที่อุณหภูมิดังกล่าวเป็นเวลา 3 วันจะได้สารละลายสีน้ำตาลเข้ม มีกลิ่นรสเปรี้ยว และมีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย 10 [superscript 7] cfu/mL น้ำสกัดใบหูกวางมีความเป็นพิษของต่อปลากัดและปลาหางนกยูงที่ระดับความเข้มข้น 6,760 พีพีเอ็ม และ 5,281 พีพีเอ็มตามลำดับ โดยระดับความเข้มข้นที่น้ำสกัดใบหูกวางสามารถยับยั้งแบคทีเรียชนิดแอร์โรโมแนส สเตรปโตคอคคัส และโปรโตซัวชนิดเตตร้าไฮมีนาเท่ากับ 1,000, 4,000 และ 2,000 พีพีเอ็ม ตามลำดับ น้ำสกัดใบหูกวางที่ระดับความเข้มข้น 1,000 พีพีเอ็ม มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียชนิดสเตรปโตคอคคัสในปลากัด 88 ปอร์เซนต์ ในขณะที่ระดับความเข้มข้น 10 พีพีเอ็มประสิทธิภาพในการรักษาโรคติดเชื้อสเตรปโตคอคคัสในปลาหางนกยูง 83.33 เปอร์เซ็นต์ ใบหูกวางหรือน้ำสกัดใบหูกวางที่ระดับความเข้มข้น 1,000 พีพีเอ็ม สามารถนำมาใช้ในการสมานแผลปลากัดและปลาหางนกยูงที่มีบาดแผลที่ผิวหนังเพียงเล็กน้อยได้ และการใช้น้ำสกัดใบหูกวางที่ระดับความเข้มข้น 50 -200 พีพีเอ็ม ช่วยทำให้ปลากัดและปลาหางนกยูงที่ติดเชื้อเตตร้าไฮมีนาในห้องปฏิบัติการมีอัตรารอดเพิ่มขึ้นแต่ไม่สามารถกำจัดเชื้อที่มีในตัวปลาหางนกยูงทั้งหมด การใช้ใบหูกวางที่ความเข้มข้น 1,000 – 3,000 พีพีเอ็มร่วมกับเกลือแกงที่ความเข้มข้น 0.5 – 1 เปอร์เซ็นต์เพื่อรักษาแผลและลดการติดเชื้อเตตร้าไฮมีนาที่เกิดการระบาดขึ้นในฟาร์มเลี้ยงปลาหางนกยูงช่วยลดอัตราการตายได้มากกว่าการไม่ใช้หรือการใช้ใบหูกวางเพียงชนิดเดียว