Abstract:
การปนเปื้อนราและสารพิษจากราในกาแฟส่งผลกระทบต่อคุณภาพกาแฟ ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และสุขภาพของผู้บริโภค ซึ่งในปัจจุบันวิธีการควบคุมทางชีวภาพโดยใช้จุลินทรีย์ปฏิปักษ์เพื่อลดการปนเปื้อนราในอาหารและผลผลิตทางการเกษตรมีความต้องการเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะแบคทีเรียกรดแลคติก โครงการนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษากลไกความสามารถของแบคทีเรียกรดแลคติกปฏิปักษ์ ไอโซเลท MW2A ที่แยกได้จากน้ำหมักจากกระบวนการผลิตเมล็ดกาแฟอาราบิก้า และไอโซเลท PF1B ที่แยกได้จากเมล็ดกาแฟหมัก ต่อการเจริญและการผลิตสารพิษจากรา Aspergillus flavus M3T8R403 และ Aspergillus carbonarius TK4.2 จากผลการทดลองพบว่า แบคทีเรียกรดแลคติกทั้งสองไอโซเลทมีประสิทธิภาพต่ำในการยับยั้งการเจริญของ A. flavus และ A. carbonarius (น้อยกว่า 25 เปอร์เซ็นต์การยับยั้ง) สำหรับการผลิตสารพิษจากรา พบว่า แบคทีเรียกรดแลคติกทั้งสองไอโซเลทมีประสิทธิภาพสูงในการลดการผลิตโอคราทอกซินเอของ A. carbonarius (ลดลงมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์) อย่างไรก็ตาม แบคทีเรียกรดแลคติกทั้งสองไอโซเลทไม่สามารถลดการผลิตอะฟลาทอกซินบี 1 ได้