Abstract:
ธุรกิจต้องการต้นทุนที่ถูกต้องในการตัดสินใจที่จะเข้าสู่ตลาดใหม่เพื่อเพิ่มผลประกอบการภายใต้สภาวะการแข่งขันสูงซึ่งกิจการต้องการทราบต้นทุนแท้จริงของกระจก T4 เพื่อตัดสินใจว่าสามารถทำกำไรจากการเข้าตลาดชิ้นส่วนอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เป็นตลาดใหม่ที่มีขนาดใหญ่หรือไม่ หรือเลือกส่งเสริมการขายกระจก T10 เพื่อแย่งส่วนแบ่งการตลาดจากคู่แข่งของกิจการ ทั้งนี้กิจการมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณการลงทุนใหม่ กิจการจึงต้องเลือกตัดสินใจโดยพื้นฐานของกำลังการผลิตที่เหลืออยู่มาก แต่ระบบการคำนวณต้นทุนปัจจุบันไม่สามารถให้ต้นทุนที่ถูกต้อง ของแต่ละผลิตภัณฑ์ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงความถูกต้องของการคำนวณต้นทุนกระบวนการการผลิตกระจกนิรภัยเทมเปอร์เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญในการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ของธุรกิจ โดยการประยุกต์ระบบบัญชีต้นทุนฐานกิจกรรม (Activity Based Costing) ในการปรับปรุงระบบการคำนวณต้นทุนปัจจุบันที่ใช้วิธีการเฉลี่ยต้นทุนกระบวนการผลิตทั้งหมดด้วยปริมาณการผลิตรวมของทุกผลิตภัณฑ์ เพราะต้นทุนที่ได้ไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง โดยการวิจัยจะแบ่งกลุ่มต้นทุนตามกิจกรรมที่ใช้ทรัพยากรของกิจการพร้อมกับวิเคราะห์ตัวผลักดันต้นทุน (Cost Driver) หรือปัจจัยที่ทำให้เกิดต้นทุนของกิจกรรมนั้นๆ โดยแบ่งส่วนผลิต เป็น 5 กิจกรรม คือ ตัดกระจก, ฝนขอบ, เจาะรู, อบกระจก และ อบโซคกระจก และแบ่งส่วนสนันสนุนการผลิตเป็น 4 หน่วยงาน คือ ซ่อมบำรุงและวิศวกรรม, วางแผนการผลิต, ประกันคุณภาพ และจัดซื้อ แล้วจึงทำการเก็บรวบรวมข้อมูลตัวผลักดันต้นทุน (Cost Driver) ของแต่ละกิจกรรมเพื่อนำมาคำนวณต้นทุนที่แท้จริงของแต่ละผลิตภัณฑ์ โดยนำมาเปรียบเทียบกับต้นทุนที่ได้จากระบบปัจจุบัน เพื่อเพิ่มความก้าวหน้าทางการแข่งขันโดยการปรับปรุงกิจกรรมให้มีต้นทุนกิจกรรมที่เหมาะสมและปรับแผนการส่งเสริมการขายของแต่ละผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความสามารถในการทำกำไรที่แท้จริง จากการคำนวณตามระบบบัญชีต้นทุนฐานกิจกรรม (Activity Based Costing) ได้ต้นทุนกระจก T4 ที่แท้จริงสูงขึ้นกว่าเดิม 700 บาทต่อหน่วยผลิตซึ่งมากกว่าราคาขายของตลาดใหม่โดยจะขาดทุนเพิ่ม 476 บาทต่อทุกๆ หน่วยผลิตที่ขายเพิ่ม กิจการจึงตัดสินใจส่งเสริมการขายกระจก T10 ที่ต้นทุนแท้จริงต่ำกว่าเดิม 135บาทต่อหน่วย จึงสามารถเพิ่มกำไรให้กับกิจการได้มากกว่ากระจก T4