Abstract:
ผีเสื้อหนอนหัวดำมะพร้าว (Opisina arenosella walker) เป็นแมลงศัตรูมะพร้าวที่สร้างความเสียหายอย่างหนักแก่เกษตรกรไทยตั้งแต่ปี 2553 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน วิธีการควบคุมจำนวนผีเสื้อหนอนหัวดำมะพร้าวที่เกษตรกรนิยมใช้ในปัจจุบัน คือ การใช้สารเคมี ซึ่งสารเคมีที่ใช้มักจะส่งผลเสียต่อสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น เช่น แมลงศัตรูธรรมชาติ และสัตว์ขาปล้องชนิดอื่น งานวิจัยครั้งนี้จึงมีจุดประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิภาพการยับยั้งการกินอาหารของน้ำมันหอมระเหยจากกะเพรา (Ocimum sanctum) ที่สกัดด้วยวิธี hydrodistillation ต่อหนอนหัวดำมะพร้าวในระยะ 2 และ 3 โดยน้ำมันหอมระเหยที่สกัดได้ถูกเจือจางด้วย 95% เอทานอล ให้มีความเข้มข้น 10%, 20% และ 30% (W/V) เพื่อใช้เป็นชุดทดสอบ ผลการทดสอบใน 24 ขั่วโมง พบว่า น้ำมันหอมระเหยทั้ง 3 ความเข้มข้นสามารถยับยั้งการกินของหนอนหัวดำมะพร้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยน้ำมันหอมระเหยความเข้มข้น 20% และ 30% สามารถยับยั้งการกินอาหารของหนอนทั้ง 2 ระยะ 100% และน้ำมันหอมระเหยความเข้มข้น 10% สามารถยับยั้งการกินอาหารของหนอนระยะที่ 2 และ 3 ได้ 99.67% และ 100% ตามลำดับ นอกจากนี้น้ำมันหอมระเหยยังสามารถออกฤทธิ์ฆ่าตัวหนอนได้ดีอีกด้วย การศึกษาในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าน้ำมันหอมระเหยจากกะเพรา (O. sanctum) สามารถใช้สำหรับการจัดการควบคุมจำนวนหนอนหัวดำมะพร้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ