Abstract:
งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาปัจจัยของไคโตซานและสภาวะที่มีผลต่อการตรึงเชื้อไนไทรต์ออกซิไดซิงแบคทีเรียบนไคโตซาน โดยแบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นการศึกษาสภาวะที่เหมาะสมต่อการบำบัดไนไทรต์ด้วยไคโตซาน โดยปัจจัยและสภาวะที่ทำการศึกษาได้แก่ ระยะเวลาในการตรึงเชื้อพีเอชที่ใช้ในการปรับพื้นผิวของไคโตซาน ขนาดอนุภาคของไคโตซาน ระดับการกำจัดหมู่อะซิทิล และน้ำหนักโมเลกุลของไคโตซาน ผลการทดลองพบว่าสภาวะที่เหมาะสมต่อการตรึงเชื้อไนไทรต์ออกซิไดซิงแบคทีเรียบนไคโตซานคือ ระยะเวลาการตรึง 24 ชม. โดยการปรับพื้นผิวของไคโตซานที่ระดับพีเอช 6.5 โดยใช้ไคโตซานที่มีขนาดอนุภาคเท่ากับ 1-2 มม. และระดับการกำจัดหมู่อะซิทิลมากกว่าร้อยละ 80 จากสภาวะดังกล่าวพบว่าไคโตซานที่ตรึงเชื้อแล้วมีอัตราการบำบัดไนไทรต์สูงสุดเท่ากับ 0.72±0.07 มก. ไนไทรต์ไนโตรเจนต่อกรัม นน.แห้งไคโตซานต่อวัน ในขณะที่น้ำหนักโมเลกุลของไคโตซานไม่มีผลต่อประสิทธิภาพการตรึงเชื้อ จากนั้นทำการทดลองต่อในส่วนที่สองด้วยการนำไคโตซานที่ผ่านการตรึงเชื้อไนไทรต์ออกซิไดซิงแบคทีเรียตามสภาวะที่เหมาะสมในช่วงแรก ไปใช้ในการควบคุมคุณภาพน้ำในระบบเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ทำการจำลองสภาวะในถังเลี้ยงกุ้งให้เหมือนกับบ่อไร้ดินกลางแจ้ง โดยเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการควบคุมคุณภาพน้ำระหว่างถังควบคุมที่ไม่เติมไคโตซาน ถังควบคุมที่เติมไคโตซานเปล่า(ไม่ผ่านการตรึงเชื้อ) และถังชุดทดลองที่เติมไคโตซานที่ผ่านการตรึงเชื้อแล้วตามสภาวะที่เหมาะสม โดยทำการเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไมที่มีน้ำหนักเฉลี่ย 6.29±0.98 กรัม ความหนาแน่น 0.6 กก.ต่อลบ.ม. ในน้ำทะเลความเค็ม 30 พีเอสยู ปริมาตร 80 ลิตร ในถังเพาะเลี้ยงขนาด 100 ลิตร ที่ควบคุมค่าสภาพด่างของน้ำให้เท่ากับ 150 มก.ต่อลิตร เป็นระยะเวลา 35 วัน ในสภาวะที่ไม่มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำ พบว่าไคโตซานที่ผ่านการตรึงเชื้อแล้วสามารถควบคุมคุณภาพน้ำในถังเลี้ยงกุ้งชุดทดลองได้อย่างมีประสิทธิภาพและให้ผลผลิตกุ้งที่มีอัตราการรอดสูงสุด โดยที่ไคโตซานมีอัตราการบำบัดไนไทรต์สูงสุด 1.40±0.11 มก.ไนไทรต์ไนโตรเจนต่อกรัมต่อวัน