Abstract:
โคพีพอด Apocyclops royi เป็นแพลงก์ตอนสัตว์ที่นิยมนำมาเป็นอาหารที่มีชีวิตสำหรับอนุบาลลูกปลาวัยอ่อน เนื่องจากโคพีพอดเป็นแหล่งของกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (Polyunsaturated fatty acid) โดยเฉพาะ DHA, EPA และ ARA จากสาหร่ายที่ได้รับเข้าไปโดยตรง หรือจากการสังเคราะห์ DHA จาก α- linolenic acid (ALA; C18:3n3) ได้ โดยในงานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการแสดงออกของยีนที่สังเคราะห์กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนในโคพีพอด A.royi ทั้ง 3 ระยะ คือ ระยะนอเพลียส ระยะโคพีโพดิดและระยะตัวเต็มวัยที่เลี้ยงด้วยสาหร่าย Tetraselmis suecica และสาหร่าย Chlorella sp. ด้วยเทคนิค Semi-quantitative RT-PCR โดยจากผลการวิจัยพบว่า เมื่อเลี้ยงโคพีพอด A.royi เป็นเวลา 10 วัน ด้วยสาหร่าย T.suecica และ Chlorella sp. ผลการทดลองพบว่า โคพีพอดที่เลี้ยงด้วยสาหร่าย T.suecica มีความหนาแน่นโคพีพอดทั้งหมดสูงสุด คือ 24,600 ตัว/ลิตร ซึ่งมากกว่าโคพีพอดที่เลี้ยงด้วยสาหร่าย Chlorella sp. นอกจากนี้จากผลการศึกษาด้วย sqRT-PCR ของยีนที่สังเคราะห์กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน ได้แก่ ยีน ArD4D, ยีน ArD5Da, ยีน ArD5Db, ยีน Aro3D_TH และ Aro3D_TW มีการแสดงออกในทุกระยะของโคพีพอด A.royi ที่เลี้ยงด้วยสาหร่าย T.suecica และ Chlorella sp. นอกจากนี้พบว่าระดับการแสดงออกยีนที่สังเคราะห์กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน มีการแสดงออกสูงในโคพีพอดระยะโคพีโพดิด และระยะตัวเต็มวัย ผลชี้ให้เห็นว่ามีการเพิ่มการสังเคราะห์กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนใหม่ในโคพีพอด A.royi สองระยะพัฒนาการนี้ ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าโคพีพอด A.royi ที่เพาะเลี้ยงด้วยสาหร่าย T.suecica มีการสังเคราะห์กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนสูงกว่าโคพีพอดที่เลี้ยงด้วยสาหร่าย Chlorella sp. ซึ่งเป็นข้อมูลที่จะมีประโยชน์สำหรับระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และสามารถประยุกต์ในอุตสาหกรรมอาหารและอาหารสัตว์