Abstract:
ปัจจุบัน มีหลากหลายสมการที่ใช้ในการทำนายค่าความเร็วต่ำสุดในการเกิดฟลูอิไดเซชัน แต่สามารถใช้ทำนายได้แม่นยำเพียงแค่อนุภาคของแข็งชนิดใดชนิดหนึ่ง และส่วนใหญ่จะใช้ได้กับอนุภาคของแข็งที่เป็นทรงกลมเท่านั้น งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาเพื่อพัฒนาสมการทำนายค่าความเร็วต่ำสุดในการเกิดฟลูอิไดเซชันที่สามารถใช้ได้กับอนุภาคของแข็งใด ๆ โดยใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลในการจัดเก็บ รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลตัวแปรอิสระที่มีผลต่อค่าความเร็วต่ำสุดในการเกิดฟลูอิไดเซชันจากงานวิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์การถดถอยเชิงเส้นแบบพหุและการใช้โครงข่ายประสาทเทียมในการสร้างสหสัมพันธ์ในรูปแบบสมการทางคณิตศาสตร์เพื่อทำนายค่าความเร็วต่ำสุดในการเกิดฟลูอิไดเซชันและเปรียบเทียบผลการทำนายที่ได้ระหว่างการใช้สมสัมพันธ์ในรูปแบบสมการทางคณิตศาสตร์และผลการทดลอง จากผลที่ได้ พบว่า สหสัมพันธ์ที่ได้จากการใช้โครงข่ายประสาทเทียมผ่านโปรแกรม MATLAB มีความแม่นยำสูงกว่าสหสัมพันธ์ที่ได้จากการใช้การถดถอยเชิงเส้นแบบพหุผ่านโปรแกรม Microsoft Excel เนื่องจากมีค่าสัมประสิทธิ์แสดงการตัดสินใจที่สูงกว่า และความคลาดเคลื่อนสัมบูรณ์เฉลี่ยที่ต่ำกว่า โดยสหสัมพันธ์ที่ได้นี้สามารถใช้ทำนายค่าความเร็วต่ำสุดในการเกิดฟลูอิไดเซชันของอนุภาคของแข็งใด ๆ ได้อย่างแม่นยำ ทั้งนี้มีการคำนึงถึงผลของความไม่เป็นทรงกลมของอนุภาคของแข็ง ซึ่งจะช่วยในการออกแบบและพัฒนากระบวนการฟลูอิไดเซชันให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น