Abstract:
กุ้งขาวเป็นสินค้าสัตว์น้ำที่มีความสำคัญต่อธุรกิจการส่งออกของไทย เป็นที่นิยมสำหรับผู้บริโภค การเกิดเมลาโนซิส (melanosis) หรือการเกิดจุดดำ ถึงแม้ว่าจะไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคแต่ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจต่ออุตสาหกรรมอาหารทะเล ปัจจุบันมีการใช้สารยับยั้งเมลาโนซิส เช่น โซเดียมเมตาไบซัลไฟต์ (SMS) แต่สารกลุ่มนี้เป็นสารก่อภูมิแพ้ที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้บริโภคบางกลุ่ม และมีการใช้สาร 4-Hexylresorcinol (4-HR) มาทดแทน ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงศึกษาความเกี่ยวข้องของระบบโพรฟีนอลออกซิเดสต่อการเกิดเมลาโนซิสในกุ้งขาว โดยการศึกษาผลของสารยับยั้งเมลาโนซิส 4-HR ต่อการแสดงออกของยีนโพรฟีนอลออกซิเดส LvProPO1 และ LvProPO2และกิจกรรมของเอสไซม์ฟีนอลออกซิเดสในกุ้งขาว ผลจากการตรวจการแสดงออกของยีนด้วยเทคนิค semi-quantitative RT-PCR ในกุ้งที่แช่ด้วยสารยับยั้งเมลาโนซิส 4-HR (ความเข้มข้น 25 ppm) และ SMS(0.5%) ผลการทดลองพบว่าการแสดงออกของยีน LvProPO1 และ LvProPO2 มีการแสดงออไม่แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญ (P≥0.05) เมื่อเปรียบเทียบกับชุดควบคุม อย่างไรก็ตามเมื่อทำการตรวจค่ากิจกรรมของเอนไซม์ฟีนอลออกซิเดสในกุ้งขาว กับชุดที่ทดสอบด้วยสารยับยั้งเมลาโนซิส 4-HR และ SMS ที่ความเข้มข้น 0.01, 0.1 และ 1 mM พบว่าทุกชุดทดสอบมีค่ากิจกรรมของเอนไซม์ฟีนอลออกซิเดสลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (P<0.05) เมื่อเทียบกับชุดควบคุม ผลจากการทดลองแสดงให้เห็นว่าสารยับยั้งเมลาโนซิส 4-HR และ SMS ไม่มีผลต่อการควบคุมการแสดงออกของยีน LvProPO1 และ LvProPO2 แต่ควบคุมกิจกรรมเอนไซม์ฟีนอลออกซิเดสของกุ้งขาว งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าระบบโพรฟีนอลออกซิเดสมีความสำคัญต่อการเกิดเมลาโนซิสในกุ้งขาว ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญต่อการศึกษาสารยับยั้งเมลาโนซิสเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหารทะเล