Abstract:
ขยะผสมที่ประกอบด้วยพลาสติกชีวภาพ เช่น แก้วกระดาษที่เคลือบด้วย Polybutylene succinate (PBS) มีปริมาณการใช้ที่เพิ่มมากขึ้นและมีการจัดการด้วยการฝังเพื่อช่วยในการย่อยสลายตามธรรมชาติภายในระยะเวลา 6 เดือน ในขณะที่การใช้หนอนนก Tenebrio molitor ในการช่วยย่อย Styrofoam และพลาสติกต่างๆ แต่ยังไม่พบกับการใช้กับขยะผสมพลาสติก PBS ที่เคลือบกระดาษ การศึกษานี้ได้เปรียบเทียบอัตราการย่อยสลายของแก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชนิด PBS โดยใช้หนอนนก Tenebrio molitor และกระบวนการฝังกลบตามธรรมชาติ เพื่อเปรียบเทียบความสามารถของทั้งสองกระบวนการในการย่อยสลาย โดยนำแก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชนิด PBS มาผ่านกระบวนการย่อยสลาย 4 ชุดการทดลองคือ ชุดควบคุม ชุดฝังกลบ ชุดเลี้ยงกับหนอนนก และสุดท้ายชุดที่เลี้ยงกับหนอนนกพร้อมใส่รำข้าว เป็นจำนวน 3 ซ้ำ ในระยะเวลาซ้ำละ 2 เดือน (8 สัปดาห์) ได้ผลว่าชุดที่ใช้การฝังกลบสามารถทำให้แก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชนิด PBS มีน้ำหนักที่หายไปมากที่สุดถึง 22.62% และมีอัตราการย่อยสลายมากที่สุดมีค่าเป็น 0.0334 โดยถ้าเทียบกับชุดควบคุมจะมากกว่าถึง 10 เท่า และถ้าเทียบกับกลุ่มทดลองที่ใช้หนอนนกจะมากกว่าถึง 5-6 เท่า ทำให้มีความเป็นไปได้ในการที่จุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในดินมีความสามารถในการย่อยสลายแก้วกระดาษที่เคลือบด้วย PBS ที่มากกว่าหนอนนกและมีประสิทธิภาพมากกว่า ทำให้มีความน่าสนใจในการตรวจสอบเพื่อหาจุลินทรีย์ที่มีความสามารถในการย่อยสลายพลาสติกชนิด PBS ต่อไป