Abstract:
สิว เป็นโรคอักเสบเรื้อรัง บริเวณรูขุมขนและต่อมไขมัน สาเหตุหนึ่งของการเกิดสิว คือการอักเสบเนื่องมาจากแบคทีเรีย ได้แก่ Propionibacterium acnes ซึ่งเป็น anaerobic bacteria ที่สามารถพบเจริญอยู่บริเวณส่วนลึกของรูขุมขน แบคทีเรียอีกชนิดหนึ่งคือ Staphylococcus aureus เป็น aerobic bacteria เจริญบริเวณผิวหนัง แบคทีเรียเหล่านี้หลั่งสารต่าง ๆ กระตุ้นให้เกิดการอักเสบและเกิดเป็นสิวได้ โดยกลุ่มยารักษาสิวในปัจจุบัน ทำให้เกิดผลข้างเคียงหลายประการ ผู้ศึกษาจึงมีความสนใจในผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่มีฤทธิ์ต้านการเติบโตของแบคทีเรียนั่นคือ พรอพอลิส เนื่องจากมีองค์ประกอบสำคัญคือ ฟลาโวนอยด์ และสารกลุ่มฟีนอลิก งานวิจัยครั้งนี้จึงจัดทำขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อศึกษาผลของสารสกัดหยาบพรอพอลิสจากชันโรง Geniotrigona thoracica ต่อการยับยั้งการเจริญเติบโตของ P. acnes และ S. aureus โดยได้ทดสอบประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ ด้วยวิธี agar well diffusion ซึ่งใช้สารสกัดหยาบความเข้มข้น 62.5, 125, 250, 500, และ 1,000 mg/ml ควบคู่กับ control (100% DMSO) และ positive control (penicillin-streptomycin) จากการทดสอบประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ P. acnes ในสภาวะไร้ออกซิเจน พบว่าสารสกัดหยาบพรอพอลิสด้วยเมทานอล สามารถทำให้เกิดโซนยับยั้ง (clear zone inhibition) ในทุกความเข้มข้น โดยค่าเฉลี่ยเส้นผ่านศูนย์กลางของโซนยับยั้งมีค่าอยู่ในช่วง 14 – 18 mm โดยความเข้มข้นที่ให้ค่าเส้นผ่านศูนย์กลางของโซนยับยั้งน้อยที่สุด คือ 62.5 mg/ml รองลงมาคือ 125, 250 mg/ml ตามลำดับ โดยสารสกัดหยาบที่ความเข้มข้น 500 และ 1,000 mg/ml มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเติบโตของเชื้อ P. acnes ได้ดีที่สุด เนื่องจากให้ค่าเส้นผ่านศูนย์กลางของโซนยับยั้งที่ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งมีค่ามากที่สุดด้วย และจากการทดสอบประสิทธิภาพในการยับยั้งการเติบโตของเชื้อ S. aureus พบว่าทุกความเข้มข้นของสารสกัดหยาบสามารถทำให้เกิดโซนยับยั้ง โดยมีค่าเฉลี่ยในช่วง 15 – 21 mm โดยที่ทุกความเข้มข้นของสารสกัดหยาบ ให้ค่าโซนยับยั้งที่ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นั่นคือมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ S. aureus ได้ไม่แตกต่างกัน นอกจากนี้ผลของการหาปริมาณฟีนอลิก และฟลาโวนอยด์ทั้งหมด ในสารสกัดหยาบพรอพอลิส จากการทดสอบด้วยวิธี Folin- Ciocalteu method และ aluminium chloride colorimetric assay ตามลำดับ พบว่ามี ปริมาณฟีนอลิกทั้งหมด 20.67 mg gallic acid equivalent (GAE)/g และปริมาณฟลาโวนอยด์ทั้งหมด 480.26 mg quercetin equivalent (QE)/g ดังนั้น จึงสามารถกล่าวได้ว่าพรอพอลิสจาก G. thoracica มีฤทธิ์ต้านการเติบโตของ P. acnes และ S. aureus