Abstract:
กล้วยไม้เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวในวงศ์ Orchidaceae มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทยเนื่องจากกล้วยไม้เป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกที่สำคัญ ปัญหาที่พบในสวนกล้วยไม้คือแมลงศัตรูพืช เช่น เพลี้ยไฟ บั่วกล้วยไม้ หนอนกระทู้หอม หอยทากสาลิกา และ หอยซัคซีเนีย วิธีการกำจัดหอยทากสามารถทำได้โดยการใช้สารเคมีในการควบคุม แต่ปัญหาของสารเคมีเหล่านี้ คือ มีความเป็นพิษต่อคนและยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการควบคุมทางชีววิธีเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยป้องกันและควบคุมการระบาดของหอยทากศัตรูพืชทำให้ลดความเสียหายและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของเกษตรกร การควบคุมโรคพืชด้วยวิธีชีวภาพคือการใช้ไส้เดือนฝอยที่สามารถก่อโรคในหอยทาก ไส้เดือนฝอยที่ใช้ในโครงการวิจัยนี้คือ Panagrolaimus sp. การนำไส้เดือนฝอยไปใช้จริงยังขาดข้อมูลในเรื่องของระยะเวลาที่ไส้เดือนฝอย Panagrolaimus sp. อยู่รอดในสวนกล้วยไม้ งานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาหาระยะเวลาการอยู่รอดของไส้เดือนฝอย Panagrolaimus sp. บนกล้วยไม้สกุลหวาย โดยทำการทดลอง 3 ช่วงระยะเวลาคือ 0 วัน 7 วัน และ 14 วัน เพื่อดูการอยู่รอดของไส้เดือนฝอย Panagrolaimus sp. และศึกษาหาปริมาณที่ไส้เดือนฝอยอยู่รอดในแต่ละช่วง โดยแบ่งเป็น 0, 1,000, 5,000 และ 10,000 ตัว/มล. โดยฉีดพ่นปริมาตรทั้งหมด 50 มล. จนทั่วต้นกล้วยไม้ ผลการทดลองพบว่าปริมาณไส้เดือนฝอยทั้ง 4 ความหนาแน่นพบจำนวนตัวที่อยู่รอดในช่วงระยะเวลา 0 วัน ได้แก่ 0 ตัว/มล. พบ 0±0.00 ตัว, 1,000 ตัว/มล. พบ 4,916±106.07 ตัว, 5,000 ตัว/มล. พบ 10,650±176.78 ตัว และ 10,000 ตัว/มล. พบ 17,416±35.14 ตัว ในช่วงระยะเวลา 7 วัน ได้แก่ 0 ตัว/มล. พบ 0±0.00 ตัว, 1,000 ตัว/มล. พบ 967±47.13 ตัว, 5,000 ตัว/มล. พบ 1,850±82.48 ตัว และ 10,000 ตัว/มล. พบ 3,000±23.58 ตัว คิดเป็นร้อยละ 0.00±0.00, 18.31±0.61, 18.47±0.28 และ 11.29±0.20 ของช่วงระยะเวลา 0 วันตามลำดับ ซึ่งมากกว่าช่วงระยะเวลา 14 วัน ได้แก่ 0 ตัว/มล. พบ 0±0.00 ตัว, 1,000 ตัว/มล. พบ 600±47.23 ตัว, 5,000 ตัว/มล. พบ 767±141.27 ตัว และ 10,000 ตัว/มล. พบ 1,533±282.94 ตัว คิดเป็นร้อยละ 0.00±0.00, 12.20±0.61, 7.20±0.28 และ 8.80±0.20 ของช่วงระยะเวลา 0 วัน ตามลำดับ ความหนาแน่นไส้เดือนฝอยที่มีร้อยละความอยู่รอดมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลา 0 วัน คือ ที่ความเข้มข้น 1,000 ตัว/มล. และ ช่วงระยะเวลาที่ไส้เดือนฝอยอยู่รอดมากที่สุด คือ 7 วัน และ ทำการศึกษาระยะการเจริญเติบโตและการตายของไส้เดือนฝอยในแต่ระยะเวลาทุกความเข้มข้น พบว่า ในช่วงระยะเวลา 0 วัน พบไส้เดือนฝอยระยะเข้าทำลายมากที่สุด ช่วงระยะเวลา 7 วัน และ 14 วัน พบไส้เดือนฝอยระยะอื่นมากที่สุด และ ไส้เดือนฝอยที่ตายมีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นในทุกความเข้มข้นเมื่อระยะเวลาเพิ่มขึ้น และ สูงสุดที่ช่วงระยะเวลา 14 วัน