Abstract:
เหลือบและแมลงวันคอกเป็นแมลงดูดเลือดที่มีบทบาทสำคัญในการเลี้ยงปศุสัตว์ในฐานะแมลงรบกวนและพาหะนำโรคที่สำคัญซึ่งนำเชื้อโรค ในงานวิจัยนี้ประกอบไปด้วย 2 การศึกษา การศึกษาที่ 1 เป็นการศึกษาในฟาร์มปศุสัตว์ในจังหวัดนครปฐม และการศึกษาที่ 2 เป็นการศึกษาในฟาร์มปศุสัตว์ในจังหวัดฉะเชิงเทรา สำหรับการศึกษาที่ 1 เก็บตัวอย่างในระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2559 ถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2560 ในการศึกษานี้ได้เก็บตัวอย่างเหลือบทั้งหมดจำนวน 79 ตัวอย่าง แบ่งออกเป็นเหลือบเพศเมียจำนวน 77 ตัวอย่าง และเหลือบเพศผู้จำนวน 2 ตัวอย่าง เหลือบทั้งหมดที่พบในการศึกษานี้มี 3 ชนิด ได้แก่ Tabanus striatus จำนวน 43 ตัวอย่าง ตามด้วย Tabanus rubidus จำนวน 35 ตัวอย่าง และ Tabanus marginalis จำนวน 1 ตัวอย่าง สำหรับแมลงชนิดอื่นที่ตรวจพบนั้นมีจำนวน 1,318 ตัวอย่าง แบ่งออกเป็น Musca domestica จำนวน 825 ตัวอย่าง Stomoxys spp. จำนวน 485 ตัวอย่าง Sarcophaga spp. จำนวน 4 ตัวอย่าง และ Fannia spp. จำนวน 4 ตัวอย่าง สำหรับการศึกษาที่ 2 นั้นเก็บตัวอย่างจำนวน 2 ครั้ง ในเดือนตุลาคม และธันวาคม พ.ศ. 2561 โดยใช้กับดักแมลงชนิด SASA 99 ร่วมกับการเก็บตัวอย่างแมลงจากตัวสัตว์โดยใช้สวิง ในเดือนตุลาคม 2561 ตัวอย่างแมลงที่จับได้ ได้แก่ Stomoxys calcitrans จำนวน 298 ตัวอย่าง Stomoxys indica จำนวน 1 ตัวอย่าง Lyperosia exigua จำนวน 13 ตัวอย่าง และ Musca domestica จำนวน 8 ตัวอย่าง และในเดือนธันวาคม 2561 ตัวอย่างแมลงที่จับได้โดยการใช้สวิง ได้แก่ Stomoxys calcitrans จำนวน 22 ตัวอย่าง Stomoxys indica จำนวน 1 ตัวอย่าง Lyperosia exigua จำนวน 17 ตัวอย่าง และ Musca domestica จำนวน 20 ตัวอย่าง และตัวอย่างแมลงที่จับได้โดยการใช้กับดัก SASA 99 ได้แก่ Stomoxys calcitrans จำนวน 3 ตัวอย่าง Musca domestica จำนวน 19 ตัวอย่าง และ Tabanus megalops จำนวน 2 ตัวอย่าง สุ่มตัวอย่างแมลงจำนวน 32 ตัวอย่าง มาตรวจหาเชื้อ Trypanosoma evansi ด้วยวิธีทางอณูชีววิทยา แบ่งเป็นแมลงวันคอก Stomoxys calcitrans เพศเมีย ที่จับได้ในระหว่างเดือนตุลาคม 2561 จำนวน 20 ตัวอย่าง แมลงวันคอก Stomoxys calcitrans เพศเมีย ที่จับได้ในระหว่างเดือนธันวาคม 2561 จำนวน 10 ตัวอย่าง และเหลือบ Tabanus megalops เพศผู้ ที่จับได้ในระหว่างเดือนธันวาคม 2561 จำนวน 2 ตัวอย่าง อย่างไรก็ตามตรวจไม่พบเชื้อในทุกอย่างที่ทำการทดสอบ