Abstract:
พื้นที่ภาคกลางของประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่มีการทำเกษตรอย่างกว้างขวางและมีรายงานการใช้สารเคมีในการทำการเกษตร เช่น สารกำจัดศัตรูพืช สารกำจัดวัชพืช และปุ๋ยเคมี ที่ก่อให้เกิดการปนเปื้อนโลหะหนักและส่งผลต่อและสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ โดยสิ่งมีชีวิตที่อาจได้รับผลกระทบคือ เต่านา Malayemys macrocephala เนื่องจากมีแหล่งอาศัยและวางไข่ขนาดใหญ่อยู่ในพื้นที่เกษตร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา การศึกษาครั้งนี้จึงเลือกเต่านาเป็นสิ่งมีชีวิตเฝ้าระวังและเลือกใช้ไข่ในการศึกษาการปนเปื้อนโลหะหนักในเปลือกไข่เนื่องจากโลหะหนักสามารถถ่ายทอดจากแม่เต่าสู่ไข่เต่าและยังมีโอกาสสะสมในเปลือกไข่ได้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสัณฐานวิทยาและธาตุองค์ประกอบของเปลือกไข่เต่านาในพื้นที่เกษตร โดยการนำตัวอย่างไข่เต่านาจากตลาดท้องถิ่นในอำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มาชั่งน้ำหนักและวัดขนาดก่อนแยกไข่ออกมา จากนั้นทำความสะอาดเปลือกไข่ และรักษาสภาพในสารละลายฟอร์มาลิน 10% เป็นเวลา 24 ชั่วโมง แล้วเก็บในเอทานอล 70% นำตัวอย่างไปทำให้แห้ง และเก็บในโหลดูดความชื้นก่อนนำไปวิเคราะห์สัณฐานวิทยาและธาตุองค์ประกอบโดยใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด (SEM) และอุปกรณ์ตรวจจับสัญญาณเอ็กซ์เรย์ (energy dispersive X-ray หรือ EDX) เพื่อแยกแยะสัญญาณของธาตุที่แตกต่างกัน ผลการศึกษาสัณฐานวิทยาพบโครงสร้าง 2 ชั้น ได้แก่ 1) ชั้น calcareous ซึ่งพบ shell unit ที่มีผลึกลักษณะคล้ายเข็มและรัศมีชี้ออกจากจุดศูนย์กลางและมีรูแทรกระหว่าง shell unit และ 2) ชั้น shell membrane เป็นเส้นใยที่สานทับกันอย่างไม่เป็นระเบียบ โดยที่ shell unit พบผลึกแคลเซียมคาร์บอเนตทั้งในรูป aragonite และ calcite ผลการตรวจสอบธาตุองค์ประกอบพบธาตุ O, C, Ca, N, P, S, Cl, Na, Al, K, Mg และ Si โดยพบสัดส่วนของธาตุ O, C และ Ca สูงกว่าธาตุ อื่น ๆ สอดคล้องกับลักษณะสัณฐานวิทยาที่พบการสะสมผลึก CaCO₃ ในชั้น calcareous แต่ไม่พบธาตุจำพวกโลหะหนักในเปลือกไข่เต่านาจากพื้นที่เกษตร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผลการศึกษาที่ได้ทำให้เข้าใจถึงสัณฐานวิทยาและธาตุองค์ประกอบของเปลือกไข่เต่านาซึ่งสามารถใช้เป็นฐานข้อมูลเพื่อติดตามแนวโน้มการปนเปื้อนโลหะหนักในพื้นที่เกษตรในอนาคต