Abstract:
โครงงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหาอายุแหล่งโบราณคดีเมืองเพีย อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่นจากก้อนอิฐด้วยวิธีกระตุ้นด้วยแสง โดยทำการเก็บตัวอย่างอิฐที่ถูกขุดขึ้นมาจากการสำรวจของกรมศิลปากรและการดำเนินงานวางท่อขนส่งน้ำมัน ซึ่งทั้งสองบริเวณที่ทำการเก็บตัวอย่างอิฐมาศึกษาตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกของเมืองโบราณบ้านเมืองเพีย จากการสังเกตลักษณะทางกายภาพภายในของก้อนอิฐพบว่าอิฐจากทั้งสองบริเวณมีลักษณะทางกายภาพภายในก้อนอิฐที่แตกต่างกัน โดยก้อนอิฐจากบริเวณที่ 1 มีลักษณะเป็นสีดำบริเวณตรงกลางและมีสีส้มบริเวณผิวด้านนอก ส่วนบริเวณที่ 2 มีลักษณะเป็นสีส้มเนื้อเดียวกันทั่วทั้งก้อน ผู้จัดทำโครงงานจึงวางแผนการทดลองโดยใช้ตัวอย่างอิฐทั้งหมด 4 ก้อน แต่ทำการแยกตัวอย่างระหว่างเนื้อด้านนอกและด้านในก้อนอิฐโดยแบ่งตัวอย่างเป็น 5 ตัวอย่าง ได้แก่ PH01-out PH01-IN ph02-out PH01-ALL และ PHG02-out จากนั้นหาค่า ED ด้วยเครื่อง TL/OSL reader และค่า AD ด้วยเครื่อง gamma-ray spectrometer แล้วคำนวณหาค่าอายุ จากการศึกษาครั้งนี้พบว่าอิฐที่เก็บมาทำการศึกษามีช่วงอายุ 2 ช่วง ช่วงอายุที่ 1 คืออิฐจากที่ดินนายธรรมะ เทศแก้ว ซึ่งจากค่าอายุที่ได้ทำให้สันนิษฐานได้ว่ามีการสร้างโบราณสถานก่ออิฐและการอยู่อาศัยในเมืองเพียในช่วงเวลาประมาณ 1,400-1,500 ปีมาแล้ว ซึ่งตรงกับช่วงสมัยทวารดี ส่วนช่วงอายุที่ 2 คืออิฐจากที่ดินนายชุติเดช สูงเพีย จากค่าอายุที่ได้แสดงให้เห็นว่าคนในอดีตในพื้นที่เมืองโบราณบ้านเมืองเพีย มีการอยู่อาศัยและสร้างศาสนสถานขึ้น ในช่วงเวลาประมาณ 625-955 ปี มาแล้ว ซึ่งตรงกับสมัยลพบุรีและช่วงรอยต่อระหว่างสมัยลพบุรีและล้านช้าง นอกจากนั้นยังพบว่าหากตัวอย่างอิฐที่นำมาศึกษาเป็นอิฐที่เผาไม่สุกทั่วทั้งก้อน เนื้ออิฐบริเวณขอบนอกที่มีสีส้มจะเหมาะกับการหาอายุด้วยวิธีการเปล่งแสงมากกว่าเนื้ออิฐด้านในที่มีสีดำ เนื่องจากอิฐด้านในอาจมีการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ในระหว่างกระบวนการผลิต