Abstract:
การเกิดหลุมยุบในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาค โดยเฉพาะในภาคใต้ อันมีสาเหตุหลักจากการถล่มของโพรงใต้ดิน สามารถเกิดได้ทั้งจากธรรมชาติและกิจกรรมของมนุษย์ ถึงแม้การเกิดหลุมยุบในประเทศไทยจะไม่ส่งผลกระทบถึงชีวิตแต่ก็สร้างความตื่นตระหนกต่อผู้คน ส่งผลให้อาคารบ้านเรือนและระบบสาธารณูปโภคเกิดความเสียหาย สร้างความลำบากให้กับประชาชนในพื้นที่ ดังนั้นทางผู้จัดทำจึงมีความสนใจในการประเมินพื้นที่อ่อนไหวต่อการเกิดหลุมยุบเบื้องต้น เพื่อให้ประชาชนมีความเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และสามารถนำไปใช้ในการวางแผนก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ ในพื้นที่อ่อนไหวต่อไป ในขั้นตอนการดำเนินงานจะใช้ปัจจัยทางภูมิประเทศมาร่วมในการวิเคราะห์ ได้แก่ ความลาดชันของพื้นที่ ระยะห่างจากแนวรอยเลื่อนและแนวเส้น ลักษณะทางธรณีวิทยา ระยะห่างจากบ่อน้ำบาดาล ระยะห่างจากเส้นทางถนน ระยะห่างจากเส้นทางน้ำ กลุ่มชุดดินและในพื้นที่ นำมาพิจารณาค่าน้ำหนักของแต่ละปัจจัยด้วยกระบวนการลำดับชั้นเชิงวิเคราะห์ (AHP method) และประมวลผลโดยใช้โปรแกรม ArcMap 10.5 จัดทำแผนที่แสดงความอ่อนไหวต่อการเกิดหลุมยุบในประเทศไทย จากผลการดำเนินงานพบว่าหลุมยุบส่วนใหญ่มักเกิดในบริเวณที่ราบ ตะกอนควอเทอร์นารีและหินปูนปริมาณฝนมากกว่า 1,200 มิลลิเมตร/ปี อยู่ใกล้กับแนวรอยเลื่อนและแนวเส้น บ่อน้ำบาดาลเส้นทางถนนและเส้นทางน้ำ กลุ่มดินร่วนและบริเวณพื้นที่เกษตรกรรม สามารถเรียงค่าความสำคัญจากมากไปน้อย ได้แก่ ลักษณะทางธรณีวิทยา 28% ระยะห่างจากบ่อน้ำบาดาลและกลุ่มชุดดินอย่างละ 18% การใช้ประโยชน์ที่ดิน 12% ปริมาณฝน 9% ระยะห่างจากเส้นทางถนน 6% ความลาดชันของพื้นที่และระยะห่างจากเส้นทางน้ำอย่างละ 3% และระยะห่างจากแนวรอยเลื่อนและแนวเส้น 2% ตามลำดับ และจากแผนที่แสดงความอ่อนไหวต่อการเกิดหลุมยุบในประเทศไทยพบว่าพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวต่อการเกิดหลุมยุบสูงมากส่วนใหญ่พบในบริเวณภาคใต้ บางส่วนของภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก โดยจากการพิจารณาพบว่าแต่ละภาคจะมีปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดหลุมยุบที่แตกต่างกัน