Abstract:
จากการขุดค้นพบกำแพงเมืองโบราณสุพรรณบุรี ในโครงการอนุรักษ์และพัฒนากำแพงเมืองโบราณสุพรรณบุรี ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยสำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี กรมศิลปากร พบว่าเป็นร่องรอยของผังเมืองโบราณซ้อนทับกันสองเมือง โดยเมืองที่เก่ากว่ามีขนาดใหญ่และครอบคลุมสองฝั่งของแม่น้ำสุพรรณบุรี ส่วนเมืองที่ใหม่กว่าเป็นเมืองขนาดเล็กทางทิศตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณบุรี เนื่องจากมีการรื้อและปรับปรุงแนวกำแพงอยู่หลายครั้ง อีกทั้งร่องรอยกำแพงที่พบในปัจจุบันนั้น อยู่ในสภาพที่ค่อนข้างทรุดโทรม ทำให้เป็นประเด็นปัญหาทางโบราณคดีในการพิสูจน์หลักฐาน เพื่อให้ทราบถึงอายุ และสามารถอธิบายถึงลำดับการก่อสร้างกำแพงเมืองโบราณสุพรรณบุรี ผู้จัดทำโครงงานได้ทำการศึกษาการหาอายุด้วยวิธีเปล่งแสง เนื่องจากเป็นวิธีที่สามารถประยุกต์ใช้กับการหาอายุอิฐได้ ตัวอย่างอิฐจากกำแพงเมืองโบราณสุพรรณบุรีที่ทำการศึกษา มีทั้งหมด 2 ชุด คือ ตัวอย่าง SPN (ตัวอย่างจากกำแพงด้านทิศเหนือ) และตัวอย่าง SPE (ตัวอย่างจากกำแพงด้านทิศตะวันออกฝั่งเหนือ) การทดลองแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือการหาค่า ED ด้วยเครื่อง TL/OSL reader และค่าที่สองคือ ค่า AD ซึ่งหาได้จากเครื่อง Gramma-ray spectrometer พบว่าตัวอย่าง SPN-1 มีอายุ 350-380 ปีก่อนปัจจุบัน ตัวอย่าง SPN-2 มีอายุ 439-493 ปีก่อนปัจจุบัน ตัวอย่าง SPE-1 มีอายุ 654-692 ปีก่อนปัจจุบัน และ SPE-2 มีอายุ 605-623 ก่อนปัจจุบัน ทำให้สามารถสรุปผลได้ว่า SPN-2 เป็นอิฐจากสมัยแรกของแนวกำแพงเมืองด้านทิศเหนือ ที่มีการสร้างกะเปาะยื่นออกมาจากแนวกำแพงเมือง และ SPN-1 คาดว่าเป็นสมัยที่สองที่มีนำอิฐใหม่มาทำการปรับระดับพื้นใช้งานให้สูงขึ้นกว่าเดิม ส่วนตัวอย่าง SPE-1 และ SPN-2 โดยสันนิษฐานว่าตัวอย่าง SPE-1 และ SPN-2 ถูกนำมาสร้างกำแพงอิฐนี้ หลังจากได้รับอิทธิพลการเข้ามาของสุโขทัย ราวช่วงกลางถึงช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19