Abstract:
หอยเชอรี Pomacea canaliculata ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานจากทวีปอเมริกาใต้ที่ถูกนำเข้ามาในประเทศไทยในปีพุทธศักราช 2525 และมีรายงานแพร่กระจายไปยังแหล่งน้ำจืดทั่วประเทศในปี พุทธศักราช 2538 ทำให้เกิดการระบาด ก่อผลกระทบต่อเกษตรกร ระบบนิเวศ และกระทบต่อการสูญพันธุ์ในพื้นที่ของหอยโข่งสกุล Pila โครงการวิจัยนี้ได้ทำการสำรวจศึกษาสถานภาพการรุกรานในอดีตและปัจจุบันของหอยเชอรีในประเทศไทย เพื่อออกแบบงานวิจัยในเรื่องการจัดการหอยเชอรี และการนำเข้าฟื้นฟูหอยโข่งไทยพันธุ์พื้นเมืองชนิด Pila virescens งานวิจัยเริ่มต้นจากการเก็บข้อมูลที่เกี่ยวกับสถานภาพการรุกราน การจัดการหอยเชอรีทั้งในและต่างประเทศ และข้อมูลหอยโข่งพันธุ์พื้นเมืองด้วยการค้นคว้ารวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากรายงานการวิจัย บทความวิจัย ข้อมูลจากหน่วยงานราชการ คลิปวีดิทัศน์ และสอบถามจากผู้เชี่ยวชาญ ผลการศึกษาจากการรวบรวมข้อมูลและศึกษาในพื้นที่เบื้องต้นพบว่า ในปัจจุบันการระบาด และการก่อความเสียหายในพื้นที่เกษตรกรรมลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับการรายงานในอดีต โดยตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2558 ถึง 2563 ไม่พบการรายงานความเสียหายในพื้นที่เกษตรกรรม ในขณะที่หอยโข่ง Pila virescens พบได้ยากตามธรรมชาติ ปัจจุบันมีการจัดการหอยเชอรีแบ่งเป็น 5 ประเภท ได้แก่ การควบคุมทางกายภาพ การจัดการโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น การควบคุมโดยชีววิธี การควบคุมโดยใช้สารเคมี และการนำมาบริโภค จึงทำให้เกิดเป็นแนวทางในออกแบบการจัดการหอยเชอรีก่อนการฟื้นฟูระบบนิเวศโดยใช้ความร่วมมือของเกษตรกรและชุมชน