Abstract:
ปัจจุบันการมีการใช้งานพลาสติกในชีวิตประจำวันอย่างกว้างขวาง พลาสติก Polybutylene succinate (PBS) ชนิด BioPBS เป็นพลาสติกชีวภาพที่ผลิตขึ้นจากวัตถุดิบธรรมชาติจึงสามารถย่อยสลายได้ โดยไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในงานวิจัยนี้สนใจใช้ประโยชน์ของกระดาษเคลือบ BioPBS ที่มาจากแก้ว เครื่องดื่มใช้แล้ว เป็นวัสดุตรึงแบคทีเรียส่งเสริมการเจริญของพืช (Plant growth promoting bacteria) ที่ ประกอบด้วย Bacillus thuringiensis B2, Bacillus stratosphericus L19 และ Bacillus altitudinis T17 ผลการศึกษาใต้กล้องจุลทรรศน์อิเล็คตรอนแบบส่องกราด พบว่าลักษณะพื้นผิวของกระดาษเคลือบ BioPBS เรียงตัวเป็นเส้นใยอัดแน่นและผิวขรุขระซึ่งง่ายต่อการยึดเกาะของแบคทีเรีย และเมื่อนำหัวเชื้อแบคทีเรียผสม ตรึงบนกระดาษเคลือบ BioPBS ด้วยวิธีการบ่มแบบเขย่าเป็นเวลา 2 วัน พบว่ามีปริมาณแบคทีเรียบนวัสดุตรึง 10⁸ – 10⁹ CFU ต่อกรัมวัสดุตรึง โดยการเขย่าทำให้วัสดุตรึงกระจายตัวและเส้นใยบนพื้นผิวของวัสดุตรึงเกิด การคลายตัว ส่งผลให้แบคทีเรียสามารถเข้าไปอยู่ในช่องว่างภายในวัสดุตรึงได้ นอกจากนั้นเมื่อทดสอบการอยู่ รอดของแบคทีเรียบนวัสดุตรึงในขวดทดลองปิดสนิท ที่อุณหภูมิห้อง เป็นเวลา 8 สัปดาห์ พบว่าแบคทีเรียบน BioPBS สามารถอยู่รอดได้ถึง 97% เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณแบคทีเรียเริ่มต้น ในขณะที่ชุดควบคุม คือ พลาสติก PLA มีปริมาณเชื้ออยู่รอดได้เพียง 79% เท่านั้น การติดตามการย่อยสลายของวัสดุตรึงทั้ง BioPBS และ PLA ในดินตัวอย่าง ในสภาวะอุณหภูมิห้อง เป็นเวลา 30 วัน พบว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจน คาดว่าเนื่องจากดินมีความชื้นต่ำและโดนแสงแดดจัด ในเบื้องต้นจึงสรุปได้ว่าสามารถใช้กระดาษเคลือบ BioPBS เป็นวัสดุตรึงสำหรับแบคทีเรียในกลุ่ม PGPB และสามารถเก็บรักษาในรูปแห้งเพื่อใช้ประโยชน์ทาง การเกษตรต่อไป โดยแผนงานต่อไปจะนำแบคทีเรียบนวัสดุตรึง BioPBS ไปทดสอบประสิทธิภาพในการ ส่งเสริมการเจริญของต้นอ้อยในสภาวะแล้ง โดยจะเก็บผลการทดลองความยาวใบ ลำต้น และราก พร้อมทั้ง ตรวจติดตามปริมาณเชื้อแบคทีเรียทนแล้งบริเวณราก