Abstract:
ที่มาและความสำคัญของปัญหา: โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางจิตเวชที่พบบ่อย ส่งผลกระทบต่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคม จิตบำบัดสัมพันธภาพระหว่างบุคคลเป็นจิตบำบัดรูปแบบหนึ่งที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคซึมเศร้า การนำมาปรับใช้ในประเทศไทย ต้องคำนึงถึงบริบทด้านสังคมวัฒนธรรมร่วมด้วย จึงมีความจำเป็นในการนำมาปรับพัฒนาให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ผู้วิจัยได้พัฒนาและปรับรูปแบบการบำบัดเป็นรูปแบบกลุ่ม และศึกษาประสิทธิภาพในการรักษาอาการซึมเศร้าในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในประเทศไทย วัตถุประสงค์ของการวิจัย: เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของจิตบำบัดสัมพันธภาพระหว่างบุคคลรูปแบบกลุ่มในการลดอาการซึมเศร้าของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โดยเปรียบเทียบการใช้จิตบำบัดร่วมกับการรักษาตามปกติด้วยยา ว่ามีประสิทธิภาพในการลดอาการซึมเศร้าของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้มากกว่าการรักษาตามปกติด้วยยาเพียงอย่างเดียวหรือไม่
วิธีการศึกษา: เป็นการศึกษาเชิงทดลองโดยมีกลุ่มควบคุมและมีการสุ่ม เกณฑ์การคัดเลือกคือเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าชนิด major depressive disorder หรือ persistent depressive disorder ตามเกณฑ์การวินิจฉัยของ DSM-5 และมีคะแนนจากแบบประเมิน Thai HRSD ตั้งแต่ 13 คะแนนขึ้นไป โดยมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ทำการศึกษาทั้งหมด 64 คน แบ่งเป็นผู้ป่วยกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมกลุ่มละ 32 คนเท่ากันโดยวิธีการสุ่มแบบบล็อก กลุ่มทดลองได้รับจิตบำบัดสัมพันธภาพระหว่างบุคคลรูปแบบกลุ่มเป็นเวลา 12 สัปดาห์ ร่วมกับการรักษาด้วยยาตามปกติ ในขณะที่กลุ่มควบคุมได้รับการรักษาด้วยยาตามปกติเพียงอย่างเดียว ทำการประเมินคะแนนซึมเศร้าโดยแบบประเมิน Thai HRSD และคะแนนอาการทางคลินิกโดยแบบประเมิน CGI ก่อนเริ่มศึกษา (สัปดาห์ที่ 0) และติดตามประเมินต่อในสัปดาห์ที่ 4, 8, 12 และหลังจากการศึกษา (สัปดาห์ที่ 16) แล้วทำการวิเคราะห์เปรียบเทียบความแตกต่างของคะแนนซึมเศร้าเฉลี่ย และคะแนนอาการทางคลินิกเฉลี่ยระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม โดยใช้สถิติทดสอบ repeated measures analysis of variance (ANOVA) โดยกำหนดนัยสำคัญทางสถิติไว้ที่ระดับน้อยกว่า 0.05 ผลการศึกษา: กลุ่มทดลองที่ได้รับจิตบำบัดสัมพันธภาพระหว่างบุคคลร่วมกับการรักษาด้วยยาตามปกติมีค่าคะแนนซึมเศร้าเฉลี่ย โดยแบบประเมิน Thai HRSD และค่าคะแนนอาการทางคลินิกเฉลี่ย โดยแบบประเมิน CGI ลดลงมากกว่ากลุ่มควบคุมที่ได้รับการรักษาด้วยยาตามปกติเพียงอย่างเดียว ทั้งในสัปดาห์ที่ 4, 8, 12 และหลังการศึกษา (สัปดาห์ที่ 16) สรุปผลการศึกษา: จิตบำบัดสัมพันธภาพระหว่างบุคคลรูปแบบกลุ่มที่ได้ปรับและพัฒนาขึ้นช่วยให้อาการซึมเศร้าของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าลดลง และมีอาการทางคลินิกที่ดีขึ้นได้ และพบว่าการให้จิตบำบัดสัมพันธภาพระหว่างบุคคลรูปแบบกลุ่มร่วมกับการรักษาด้วยยาตามปกติ ส่งผลให้ลดอาการซึมเศร้า และอาการทางคลินิกของผู้ป่วยได้มากกว่าการรักษาด้วยยาตามปกติเพียงอย่างเดียว