Abstract:
กรด 2,4-ไดคลอโรฟีนอกซีแอซีติกและพาราควอตเป็นสารกำจัดวัชพืชซึ่งมีการใช้อย่างแพร่หลาย และมีการตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม ในการตรวจวิเคราะห์สารทั้งสองชนิดนี้ขั้นตอนการเพิ่มความเข้มข้นจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยตัวดูดซับชนิดของแข็งเป็นหนึ่งในวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดสำหรับสารกำจัดวัชพืชทั้ง 2 ชนิด ในการศึกษานี้ ตัวดูดซับ สำหรับกรด 2,4-ไดคลอโรฟีนอกซีแอซีติก คือ พอลิเมอร์การลอกแบบโมเลกุลที่สังเคราะห์โดยใช้ไคโตซาน และ กลูตาราลดีไฮด์เป็นตัวเชื่อมขวางตัวดูดซับ โดยศึกษาอัตราส่วนโดยโมลระหว่าง ไคโตซาน, กรด 2,4-ไดคลอโรฟีนอกซีแอซีติก และกลูตาราลดีไฮด์ เท่ากับ 1×10⁻⁷:1:104, 1×10⁻⁷:1:156, 1×10⁻⁷:1:52 และ 1×10⁻⁷:1:78 ซึ่งจากผลการทดอลงพบว่า อัตราส่วนเหล่านี้ไม่เหมาะสม เพราะให้ประสิทธิภาพเหมือนกับพอลิเมอร์ที่ไม่มีแบบโมเลกุล (Non-molecularly Imprinted Polymer: NIP) และ ในงานวิจัยนี้ พอลิเมอร์ชนิดคาร์บอนที่มีรูพรุนสังเคราะห์จากเมลามีน ถูกใช้เป็นตัวดูดซับพาราควอต โดยศึกษาผลของการกระตุ้นตัวดูดซับด้วย กรดฟอสฟอริก, กรดไฮโดรคลอริก และโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ ต่อประสิทธิภาพในการดูดซับพอลิเมอร์ชนิดคาร์บอนที่มีรูพรุนสังเคราะห์จากเมลามีน จากการวัดปริมาณพาราควอตซึ่งอยู่ในของเหลวที่กรองได้ ไม่พบพาราควอตในของเหลวที่กรองได้หลังจากการแช่พอลิเมอร์ชนิดคาร์บอนที่มีรูพรุนสังเคราะห์จากเมลามีน ทั้งที่กระตุ้นด้วยโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ 1 และ 10 โมลาร์ เป็นเวลา 24 ชั่วโมง ซึ่งอาจเป็นเพราะ พอลิเมอร์ชนิดคาร์บอนที่มีรูพรุนสังเคราะห์จากเมลามีนที่ถูกกระตุ้นด้วยโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ สามารถดูดซับพาราควอตได้หมด หรือ พาราควอตเกิดปฏิกิริยาไฮโดรไลซิส อีกทั้งการศึกษาความเสถียรของพาราควอตในภาวะด่าง พบว่าภายในเวลา 1 ชั่วโมง สารละลายที่มี pH มากกว่า 9 ไม่ส่งผลต่อการสลายตัวของพาราควอต