Abstract:
ในปัจจุบันถ่านกัมมันต์จากไม้ไผ่ได้ถูกนำมาใช้งานอย่างแพร่หลายทั้งในด้านอุตสาหกรรมและด้านครัวเรือน เพราะต้นไผ่เป็นพืชที่ได้รับความนิยมในการปลูกอย่างกว้างขวาง เนื่องจากไผ่สามารถนำมาแปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่าได้มากมาย อีกทั้งยังเหมาะกับการนำมาใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตถ่านกัมมันต์ที่มีคุณภาพสูง และปราศจากสารตกค้าง ซึ่งช่วยลดต้นทุนในกระบวนการผลิต ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาสภาวะที่ เหมาะสมในการผลิตถ่านกัมมันต์จากไม้ไผ่ผ่านกระบวนการกระตุ้นด้วยไอน้ำ โดยใช้โพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ (Potassium hydroxide, KOH) เป็นตัวช่วยในการกระตุ้น อีกทั้งยังปรับปรุงให้มีคุณภาพใกล้เคียงกับถ่านกัมมันต์ เกรดการค้าที่ผลิตจากการกระตุ้นทางเคมี โดยศึกษาผลของอุณหภูมิที่ใช้ในการกระตุ้นที่มีต่อประสิทธิภาพของ ถ่านกัมมันต์ทั้งหมด 3 ค่า ได้แก่ 650, 700 และ 850 องศาเซลเซียส พบว่าอุณหภูมิที่เหมาะสมที่สุดที่ใช้ใน การกระตุ้นของถ่านกัมมันต์จากไม้ไผ่คือ 850 องศาเซลเซียส โดยมีค่าการดูดซับไอโอดีนสูงถึง 889.05 มิลลิกรัมต่อกรัม และมีค่าพื้นที่ผิว BET 807.98 ตารางเมตรต่อกรัม นอกจากนี้ยังศึกษาผลของโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ที่ อุณหภูมิ 850 องศาเซลเซียส ทั้งสิ้น 3 ค่า ได้แก่ ความเข้มข้นร้อยละ 0.04, 0.06 และ 0.08 โดยน้ำหนัก พบว่า การเพิ่มความเข้มข้นของโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ทำให้ถ่านกัมมันต์ที่ได้มีความสามารถในการดูดซับที่ดีขึ้น ผลลัพธ์ดังกล่าวสามารถแสดงถึงความเป็นไปได้ในการนำไม้ไผ่มาใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตถ่านกัมมันต์ด้วย วิธีการกระตุ้นด้วยไอน้ำร่วมกับการใช้สารเคมี เพื่อลดต้นทุนในการผลิต อีกทั้งยังส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ วัตถุดิบท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน