Abstract:
บัวหลวง (Nelumbo nucifera Gaertn.) มีสารเมตาบอไลท์ทุติยภูมิที่มีประโยชน์ และสารสกัดหยาบซึ่งสกัดด้วยน้ำจากใบบัวหลวงยังมีฤทธิ์ในการต้านมะเร็งเมื่อทดสอบในเซลล์มะเร็งเต้านม นอกจากนี้มีรายงานว่าใบบัวเผื่อน (Nymphaea nouchali Burm.f.) มีสารเมตาบอไลท์ทุติยภูมิที่มีประโยชน์ เช่น สารฟีนอลิกแอลคาลอยด์ และแทนนิน ซึ่งอาจมีคุณสมบัติในการต้านมะเร็งเช่นเดียวกัน งานวิจัยนี้จึงมุ่งที่จะศึกษาฤทธิ์การยับยั้งมะเร็งของสารสกัดหยาบจากใบบัวหลวงและใบบัวเผื่อนในเซลล์มะเร็งปากมดลูก ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบได้มากในสตรีเป็นอันดับที่สี่ของโลก โดยใช้เซลล์มะเร็งปากมดลูกชนิด SiHa และ C33a ซึ่งอาจมีคุณสมบัติในการต้านมะเร็งเช่นเดียวกัน ผลการศึกษาพบว่า ร้อยละผลได้ของสารสกัดหยาบจากใบบัวหลวงและใบบัวเผื่อนต่อน้ำหนักแห้งคิดเป็น 6.50% และ 13.25% ตามลำดับ ปริมาณสารฟีนอลิกในสารสกัดหยาบจากใบบัวหลวงและใบบัวเผื่อนคิดเป็น 112.26±14.60 และ 19.41±6.29 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ตามลำดับ ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่น 95% และค่าความเข้มข้นครึ่งหนึ่งของสารสกัดหยาบจากใบบัวหลวงและใบบัวเผื่อนที่ทำให้เซลล์ตายของเซลล์ SiHa เท่ากับ 0.39 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตรและ 6.31 มิลลิกรัม ต่อมิลลิลิตรตามลำดับ ส่วนค่าความเข้มข้นครึ่งหนึ่งที่ทำให้เซลล์ตายของสารสกัดหยาบจากใบบัวเผื่อนที่ทดสอบกับเซลล์ C33a มีค่าเท่ากับ 1.19 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ซึ่งมีค่าดีกว่าที่เคยมีการทดลองไว้ในเซลล์มะเร็งเต้านมยกเว้นในการทดสอบสารสกัดหยาบจากใบบัวเผื่อนกับเซลล์ SiHa และไม่มีความสัมพันธ์ทางสถิติระหวางความเข้มข้นของสารสกัดหยาบจากใบบัวหลวงกับการมีชีวิตของเซลล์ ผลการทดสอบนี้แสดงให้เห็นว่าสารสกัดหยาบทั้งสองชนิดอาจสามารถถูกนำไปพัฒนาเพื่อเป็นการรักษาทางเลือกในการรักษามะเร็งปากมดลูกต่อไปได้