Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่องนี้ต้องการศึกษาประวัติศาสตร์ของการสร้างความเป็นไทยผ่านงานเขียนเกี่ยวกับการเดินทางของชนชั้นนำไทยในช่วงทศวรรษ 2440 ถึงทศวรรษ 2500 โดยมุ่งพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างประสบการณ์การเดินทาง วิธีวิทยา และบริบททางประวัติศาสตร์ของผู้เขียน การศึกษาพบว่ากระบวนการสร้างความเป็นไทยของชนชั้นนำไทยในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นการผสมผสานระหว่างวาระทางการเมืองและเศรษฐกิจ การประมวลความรู้ที่สั่งสมอยู่ก่อน กับการใช้ข้อมูลที่ได้จากการมีประสบการณ์เชิงประจักษ์จากการเดินทาง วิทยานิพนธ์ให้ความสำคัญกับงานเขียนที่เกี่ยวกับการเดินทางในฐานะเครื่องมือที่สำคัญอย่างหนึ่งของการสร้างความเป็นไทยทั้งในแง่ของการสร้างคำนิยามและการกระจายความรู้
ผลจากการศึกษาพบว่า ชนชั้นนำประกอบสร้างความเป็นไทยอย่างสัมพันธ์กับบริบททางประวัติศาสตร์ที่เปลี่ยนไปใน 4 ช่วงเวลา ได้แก่ (1) ช่วงทศวรรษ 2440 ถึงทศวรรษ 2470 เมื่อชนชั้นนำต้องเผชิญกับความท้าทายที่มากับภาวะความเป็นสมัยใหม่และต้องการธำรงสิทธิธรรมในการปกครอง จึงพยายามใช้ประวัติศาสตร์และโบราณคดีมาค้นหาและยืนยันที่มาของความเป็นไทยในประเทศ (2) ช่วงทศวรรษ 2460 ถึงทศวรรษ 2470 การเติบโตของทุนนิยมและปัญหาทางเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งทำให้ชนชั้นนำต้องการสำรวจทรัพยากรและศักยภาพทางเศรษฐกิจทั่วประเทศ กสิกรรมถูกนำเสนอภาพไม่เพียงในฐานะกิจกรรมสำคัญที่สุดในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย แต่ยังถูกยกย่องในฐานะเครื่องแสดงอัตลักษณ์ของความเป็นไทยที่มาจากการสั่งสมภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ (3) ช่วงทศวรรษ 2470 ถึง ทศวรรษ 2480 ด้วยบริบทการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 และการพิพาทเชิงดินแดนกับประเทศเพื่อนบ้านในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ชนชั้นนำกลุ่มใหม่หันมาใช้แนวคิดเรื่องเชื้อชาติอธิบายความเป็นไทย ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการเดินทางไปค้นหากลุ่มคนเชื้อชาติไทยนอกประเทศ และถูกใช้ในการเรียกร้องดินแดนคืนจากเจ้าอาณานิคมตะวันตก (4) ช่วงทศวรรษ 2490 ถึงทศวรรษ 2500 รัฐบาลปรับเปลี่ยนการอธิบายความเป็นไทยจากที่ยึดโยงกับแนวคิดเรื่องเชื้อชาติมาเป็นวัฒนธรรมไทยที่มีลักษณะเฉพาะตัว อันเป็นผลจากการปรับตัวให้เข้ากับระเบียบโลกหลังสงคราม ความต้องการลดความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน และการลดแรงเสียดทานจากขบวนการลัทธิคอมมิวนิสต์และแบ่งแยกดินแดนในประเทศ ความเป็นไทยถูกนำเสนอบนฐานของ “เอกภาพทางวัฒนธรรมบนความหลากหลาย”