Abstract:
ในหนังสือ Truth and Method ของฮันส์-เกอร์ก กาดาเมอร์ (Hans-Georg Gadamer) ได้เสนอเนื้อหาสำคัญของศาสตร์การตีความเชิงปรัชญา (philosophical hermeneutics) ว่า หนึ่ง ปัญหาการเข้าถึงความจริง ซึ่งเป็นปัญหาพื้นฐานในกระบวนการคิดทางปรัชญามากกว่าผลลัพธ์จากมรรควิธีและเป้าหมายของศาสตร์การตีความเชิงปรัชญาคือการเข้าถึงความจริงเชิงภววิสัย สอง ข้อโต้แย้งต่อความสัมพันธ์ระหว่างความจริงกับ ‘ความรู้อันได้มาจากมรรควิธี’ เพื่อนิยามความแตกต่างระหว่างการศึกษาทางมนุษยศาสตร์ (Human Sciences) และการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (Natural Sciences) และสาม สัมพันธภาพระหว่างความเข้าใจกับการตีความนั้นเป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ได้และการตีความไม่ใช่มรรควิธีในการทำความเข้าใจ สาระสำคัญเหล่านี้จะนำไปสู่กระบวนการสืบค้นที่วางเป้าหมายไว้ที่ความจริงและความเป็นภววิสัยของความเข้าใจ ด้วยเหตุนี้ กาดาเมอร์จึงเสนอว่าบทสนทนาคือกระบวนการดังกล่าว ในการเข้าใจและเข้าถึงตัวบท และ สาระสำคัญ (subject matter) ซึ่งอยู่ในตัวบทอยู่แล้วปรากฎชัดขึ้นผ่านการถามและการตอบที่ดำเนินไปอย่างไม่สิ้นสุด วิทยานิพนธ์นี้ต้องการเสนอสถานะและความสำคัญของบทสนทนา ซึ่งกาดาเมอร์นำมาเป็นวิถีทางเข้าถึงสาระสำคัญของความเข้าใจและการตีความเพื่อนำไปสู่การเข้าถึงความจริง