Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ศึกษากระบวนการบริหารจัดการอาณานิคมของอังกฤษในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เฉพาะในพม่าและแหลมมลายู ในฐานะต้นแบบให้แก่การบริหารจัดการมณฑลพายัพของรัฐบาลสยามในช่วง ค.ศ. 1894-1933 และศึกษากระบวนการเรียนรู้และนำระบอบอาณานิคมของอังกฤษในพม่าและแหลมมลายู มาใช้บริหารจัดการมณฑลพายัพของรัฐบาลสยาม ผลศึกษาพบว่าการเผชิญกับระบอบอาณานิคมอังกฤษอย่างเข้มข้นในมณฑลพายัพ ส่งผลให้รัฐบาลสยามรวมอำนาจการปกครองสู่ศูนย์กลาง จุดเปลี่ยนสำคัญที่รัฐบาลอาณานิคมอังกฤษและฝรั่งเศสร่วมลงนามในปฏิญญากำหนดเขตอิทธิพล ค.ศ. 1896 ส่งผลให้เป็นการรับรองเอกราชของสยามให้มีอธิปไตยเหนือมณฑลพายัพ และฝ่ายอังกฤษยังคงครองสัดส่วนผู้แสวงหาผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจในมณฑลพายัพ ฉะนั้นรัฐบาลสยามจึงเร่งปฏิรูปการจัดการปกครองในมณฑลพายัพในทุกมิติ ดังสะท้อนได้จากการออกกฎหมายและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในมณฑลพายัพที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 รัฐบาลสยามเรียนรู้วิธีจัดการปกครองตามระบอบอาณานิคม ขณะเดียวกันรัฐบาลอาณานิคมของอังกฤษได้ให้ความช่วยเหลือสยามหลายด้าน เพื่อพัฒนามณฑลพายัพรวมถึงประเทศสยามให้สอดคล้องกับบริบทของรัฐอาณานิคมรอบข้าง ดังนั้นอิทธิพลจากระบอบอาณานิคมของอังกฤษจึงถือเป็นต้นแบบการจัดการปกครองสำหรับรัฐบาลสยาม