Abstract:
ปริมาณน้ำฝนนับเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ การพยากรณ์ปริมาณน้ำฝนที่มีความแม่นยำช่วยให้มนุษย์เตรียมพร้อมสำหรับกิจกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ดี อย่างไรก็ตามในบางสถานการณ์ความพร้อมใช้งานของข้อมูลสภาพอากาศมีจำกัด ทำให้การพยากรณ์ปริมาณน้ำฝนอย่างแม่นยำนั้นเป็นเรื่องที่ยาก ปัจจุบันหลายๆ งานวิจัยที่เกี่ยวข้องได้เลือกโครงข่ายประสาทเทียมเชิงลึกเป็นอัลกอริทึมในการฝึกแบบจำลองเพื่อใช้ในการพยากรณ์ แนวคิดหลักคือการสร้างตัวแปรคุณลักษณะ (Feature) ที่เกี่ยวข้องในระดับสถาปัตยกรรม จากหลักการนี้สถาปัตยกรรมโครงข่ายประสาทเทียมเชิงลึกที่เหมาะสมสามารถผสมผสานและจับคู่คุณลักษณะที่เกี่ยวข้องในการพยากรณ์ได้อย่างเหมาะสม ผลที่ตามมางานวิจัยที่มีอยู่ส่วนใหญ่จึงมุ่งเน้นไปที่เทคนิคบางอย่างเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของแบบจำลองโดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเพิ่มคุณลักษณะให้กับตัวแบบมากนัก อย่างไรก็ตามเมื่อข้อมูลการฝึกฝนมีจำนวนจำกัดโครงข่ายประสาทเทียมเชิงลึกอาจจะทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพมากนัก ทำให้การผสมผสานและจับคู่คุณลักษณะที่เกี่ยวข้องในการพยากรณ์ทำได้ไม่ดีตามไปด้วย สิ่งนี้ทำให้เกิดคำถามงานวิจัยว่าแบบจำลองการพยากรณ์ปริมาณน้ำฝนที่ได้ถูกนำเสนอมีประสิทธิภาพที่ดีเพียงพอหรือไม่ เมื่อไม่ได้มีการเพิ่มคุณสมบัติที่เกี่ยวข้องให้กับแบบจำลอง งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและเปรียบเทียบประสิทธิภาพของแบบจำลองต่างๆ ในการพยากรณ์ปริมาณน้ำฝนสะสมในระยะสั้นที่มีและไม่มีการเพิ่มตัวแปรคุณสมบัติที่เกี่ยวข้อง โดยได้แบ่งการทดลองออกเป็น 2 ส่วนเพื่อวัดประสิทธิภาพ คือ 1) การเปรียบเทียบประสิทธิภาพของตัวแบบที่มีการเพิ่มตัวแปรคุณลักษณะที่เกี่ยวข้องว่ามีความถูกต้องแม่นยำดีขึ้นหรือไม่เมื่อเทียบกับแบบจำลองที่ไม่ได้มีการเพิ่มตัวแปรคุณลักษณะในสภาพแวดล้อมที่เทียบเท่ากัน และ 2) การเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการพยากรณ์ปริมาณน้ำฝนสะสมของแบบจำลองที่สนใจศึกษา ได้แก่ ARIMA ARIMAX RNN LSTM และ GRU ข้อมูลที่นำมาใช้ในงานวิจัยนี้เป็นข้อมูลสภาพอากาศและปริมาณน้ำฝนสะสมที่รวบรวบมาจากพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ จากผลการศึกษาทั้ง 2 ส่วนพบว่าการเพิ่มตัวแปรคุณลักษณะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการพยากรณ์ให้กับตัวแบบได้ในกรณีที่ข้อมูลที่นำมาฝึกฝนตัวแบบมีจำนวนจำกัด โดย แบบจำลอง GRU ให้ประสิทธิภาพในการพยากรณ์มากที่สุด