Abstract:
ภาวะโรคร่วม หรือ Comorbidity คือการเกิดโรคร่วมกันตั้งแต่สองโรคขึ้นไปในผู้ป่วยรายเดียวและเป็นประเด็นที่น่าสนใจทางด้านสาธารณสุข ผู้วิจัยจึงมีความสนใจศึกษาการวิเคราะห์โครงข่ายของภาวะโรคร่วมในผู้สูงอายุไทยโดยมีการเปรียบเทียบรูปแบบของโครงข่ายของภาวะโรคร่วม โดยใช้ข้อมูลประวัติการเข้ารับการรักษาของผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ในปี พ.ศ.2562 ที่ได้จากฐานข้อมูลผู้ป่วยภายใต้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จากการศึกษาพบว่า การกำหนดรูปแบบและเกณฑ์ในการแบ่งรูปแบบปฏิสัมพันธ์ที่แตกต่างกันสำหรับการแสดงผลของโครงข่ายนั้นจะมีข้อดี ข้อเสียแตกต่างกัน สำหรับกรณีที่ผู้ศึกษาต้องการดูภาพรวมของโครงข่ายทั้งหมดว่ามีโรคใดบ้างที่พบมากเป็นลำดับแรก ๆ ควรกำหนดให้เกณฑ์ค่าความชุกในตำแหน่งเปอร์เซ็นไทล์ที่ต่ำ เพื่อให้โครงข่ายแสดงโหนดออกมาในจำนวนมากแต่ทั้งนี้อาจจะไม่เหมาะสำหรับการดูประเภทของรูปแบบปฏิสัมพันธ์เนื่องจากอาจเกิดเส้นเชื่อมจำนวนมากทำให้มีโครงข่ายความซับซ้อน สำหรับกรณีที่ต้องการทราบว่า โรคใดบ้างที่มีความสัมพันธ์กันสูง ควรจะกำหนดเกณฑ์ค่าลิฟต์ให้มีค่าสูง เนื่องจากค่าลิฟต์เป็นค่าที่บ่งบอกถึงระดับความสัมพันธ์ระหว่างคู่โหนดนั่นเอง และการกำหนดคุณลักษณะที่เหมาะสมให้กับส่วนประกอบของโครงข่ายจะทำให้เข้าใจถึงภาวะโรคร่วมได้ดี และโดยทั่วไปแล้วผู้วิจัยแนะนำให้ใช้การแสดงผลแบบ Fruchterman-Reingold เนื่องจากเป็นรูปแบบที่มีการกำหนดให้แต่ละเส้นเชื่อมตัดกันน้อยที่สุด รวมถึงการกระจายของโหนดอย่างเท่าเทียมทำให้โครงข่ายที่ได้มีความสวยงามและเข้าใจง่าย หรือทั้งนี้ผู้ใช้งานอาจจะพิจารณาจากหลายโครงข่ายประกอบกัน