Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะการตั้งถิ่นฐาน การใช้พื้นที่ภายในเฮือนและการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่เซียของเฮือนลาวในเขตภาคใต้ ผ่านกรณีศึกษา บ้านหินสิ่ว เมืองโขงแขวงจำปาสัก สปป.ลาว โดยศึกษาข้อมูลเบื้องต้นจากเอกสารเกี่ยวกับประวัติการตั้งถิ่นฐาน รูปแบบสถาปัตยกรรมเฮือนลาวในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อเป็นข้อมูลในการอ้างอิงลักษณะของเฮือนลาวในอดีต ร่วมกับการเก็บข้อมูลภาคสนาม โดยการสัมภาษณ์ประวัติความเป็นมาของชุมชน การตั้งถิ่นฐาน การดำรงชีวิต การใช้พื้นที่ในเรือนพักอาศัย และการสำรวจรังวัดเรือนกรณีศึกษา โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ เรือนรูปแบบเก่า จำนวน 2 หลัง เรือนรูปแบบเก่าผสมใหม่ จำนวน 2 หลัง และเรือนรูปแบบใหม่ จำนวน 2 หลัง ผลการศึกษาพบว่า การตั้งถิ่นฐานของชุมชนมีความสัมพันธ์กับทิศทางของการสัญจรทั้งทางน้ำและทางบก รวมถึงทอละนีดินซึ่งส่งผลให้ตำแหน่งของเซียไม่มีทิศทางตายตัว แต่มักจะตั้งอยู่หน้าห้องนอนเสมอ เซียในเรือนรูปแบบดั้งเดิมเป็นพื้นที่อเนกประสงค์รองรับหลายกิจกรรม ต่อมาจึงมีการต่อเติมพื้นที่ซานหน้าเฮือนเพื่อรองรับการขยายตัวของครอบครัว กิจกรรมในชีวิตประจำวันบางส่วนในพื้นที่เซียถูกย้ายไปยังซานหน้าเฮือนส่งผลให้เซียเปลี่ยนแปลงจากพื้นที่ใช้อเนกประสงค์สู่การเป็นพื้นที่นอนหลักของสมาชิกในครอบครัวในเรือนรูปแบบเก่า จากการที่เซียทำหน้าที่เป็นส่วนนอนพื้นที่เซียจึงมีระดับการปิดล้อมที่มากขึ้นเพื่อรองรับความเป็นส่วนตัวของผู้อยู่อาศัย ส่งผลให้เกิดการดัดแปลงต่อเติมเฮือนเซียรูปแบบเก่าสู่เรือนรูปแบบเก่าผสมใหม่ที่มีพื้นที่ซานหน้าเฮือนและกั้นห้องนอนเพิ่มขึ้น และสู่เรือนรูปแบบใหม่ที่มีการแบ่งห้องให้เป็นสัดส่วนเพื่อรองรับกิจกรรมเฉพาะอย่าง ส่งผลให้องค์ประกอบในการใช้สอยพื้นที่เซียมีจำนวนลดลง พื้นที่เซียจึงถูกลดบทบาทกลายเป็นพื้นที่พักผ่อนและรับแขกในชีวิตประจำวันเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เซียยังคงเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญในด้านพิธีกรรมอยู่เสมอ