Abstract:
โรคติดเชื้อไวรัสมะเร็งเม็ดเลือดขาวในแมว (Feline Leukemia Virus : FeLV) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสในแมวที่สำคัญที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว และ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง การตรวจหา FeLV RNA และโปรไวรัส ด้วยวิธีทางอณูชีววิทยามีความสำคัญในการแยกระยะต่างๆของโรค ซึ่งวิธี Rapid immunochromatographic assay ที่นิยมใช้ตรวจแอนติเจนนั้นสามารถตรวจได้เพียงการติดเชื้อระยะ Progressive ที่มี Viremia เท่านั้น งานวิจัยนี้จึงได้พัฒนาเทคนิค Recombinase polymerase amplification (RPA) และ Nested RPA เพื่อตรวจ exogenous FeLV Provirus DNA และ RT-RPA เพื่อตรวจ FeLV RNA และทดสอบตัวอย่างเลือดแมวจำนวน 122 ตัวอย่าง ผลการศึกษาพบว่าเทคนิค RPA สามารถตรวจหา FeLV Provirus ได้ที่ขีดจำกัด 1 ng/µl และไม่เกิดปฏิกิริยาข้ามกลุ่มกับเชื้อก่อโรคในแมว มีความไว ความจำเพาะ เทียบกับเทคนิค PCR ที่ร้อยละ 95.89 และ 100 ตามลำดับ ขณะที่ Nested RPA เทียบกับเทคนิค Nested PCR มีความไว ความจำเพาะ ที่ร้อยละ 98.89 และ 96.88 ตามลำดับ การตรวจหา FeLV RNA ด้วยเทคนิค RT-RPA มีขีดจำกัดที่ 0.1 ng/µl เมื่อเทียบกับเทคนิค RT-PCR และ Rapid Immunochromatographic assay มีความไว ร้อยละ 93.75 และ 95.24 ตามลำดับ และ ความจำเพาะร้อยละ 100 ค่าความสอดคล้องของเทคนิค RPA ทั้งสามวิธีอยู่ในเกณฑ์ดีมาก มีค่าสถิติ kappa เท่ากับ 0.949, 0.958, 0.934 และ 0.951 ตามลำดับ นอกจากนั้นยังสามารถวิเคราะห์ผลผลิต RPA ด้วยตาเปล่าโดยใช้สี SYBR green I ซึ่งมีความจำเพาะสูงถึงร้อยละ 100 แต่มีความไวด้อยกว่าการวิเคราะห์ด้วยการแยกบนวุ้นภายใต้กระแสไฟฟ้า อีกทั้งพบว่าเทคนิค RPA และ เทคนิค Nested RPA สามารถตรวจพบแมวที่ติดเชื้อในระยะ Regression จากตัวอย่างที่ให้ผลลบด้วยเทคนิค Rapid immunochromatographic assay ถึงร้อยละ 11.9 และ 45.8 ตามลำดับ ดังนั้นการตรวจ FeLV Provirus ด้วยเทคนิค RPA หรือ Nested RPA และ FeLV RNA ด้วยเทคนิค RT-RPA ที่พัฒนาขึ้นจึงเป็นวิธีที่มีความไว ความจำเพาะ สูง รวดเร็วใช้เวลาไม่เกิน 20 นาที ที่อุณหภูมิเดียว สะดวกใช้เพียงเครื่องมือให้ความร้อนทั่วไปในการทำปฏิกิริยา จึงสามารถใช้ในการตรวจระยะของการติดเชื้อ FeLV ในคลินิกสัตวแพทย์และโรงพยาบาลสัตว์ทั่วไปเพื่อใช้ติดตามพยาธิสภาพการเกิดโรคของแมวที่ติดเชื้อ รวมทั้งการป้องกันและควบคุมการแพร่เชื้อทั้งแบบแนวระนาบและแนวดิ่งได้