Abstract:
การทำให้ความอ่อนลงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการใช้ภาษาเพื่อสื่อสาร เพราะช่วยลดผลกระทบในแง่ลบของถ้อยคำที่มีต่อผู้พูดและผู้ฟัง (Fraser, 1980) งานวิจัยที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า การทำให้ความอ่อนลงเป็นหัวข้อหนึ่งที่ได้รับความสนใจในหลายภาษา แต่ยังไม่มีงานวิจัยใดที่นำแนวคิดเรื่องการทำให้ความอ่อนลงมาศึกษาข้อมูลภาษาไทย งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปภาษาที่ทำให้ความอ่อนลงและหน้าที่ของรูปภาษาที่ทำให้ความอ่อนลงในภาษาไทย และเพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของรูปภาษาที่ทำให้ความอ่อนลงกับปริจเฉท 4 ชนิด ข้อมูลที่ศึกษามาจากการสนทนาแบบเน้นภารกิจ การสัมมนาวิชาการ บทความวิชาการ และบทความแสดงความคิดเห็น แนวคิดที่ใช้
ในการวิเคราะห์ คือ แนวคิดเรื่องการทำให้ความอ่อนลงของ Fraser (1980), Holmes (1984), Caffi (1999), Schneider (2010) และ Thaler (2012)
ผลการวิจัยพบว่า ผู้พูดใช้รูปภาษาที่ทำให้ความอ่อนลงทั้งหมด 8 ประเภท ได้แก่ 1) รูปภาษาแสดงการคาดคะเน
2) รูปภาษาแสดงการไม่ระบุชัดเจน 3) กริยาแสดงสภาวะทางความคิด 4) ประโยคคำถามเพื่อเสนอความคิดเห็น 5) รูปภาษาแสดงการออกตัว 6) รูปภาษาแสดงการสมมติเหตุการณ์ 7) รูปภาษากำหนดขอบเขตความรับผิดชอบ และ 8) รูปภาษาแสดงความลังเลใจ ประเภทของรูปภาษา
ที่พบมากที่สุด คือ รูปภาษาแสดงการคาดคะเน ซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นถึงลักษณะของสังคมไทยที่ให้ความสำคัญกับความอ่อนน้อมถ่อมตน
ไม่แสดงความมั่นใจมากเกินไป และการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างกัน ลักษณะการปรากฏของรูปภาษาที่ทำให้ความอ่อนลงมี 2 รูปแบบ คือ
1) รูปภาษาที่ปรากฏเดี่ยว และ 2) รูปภาษาที่ปรากฏร่วมกัน ผู้พูดมักเลือกใช้รูปภาษาที่ทำให้ความอ่อนลงที่ปรากฏเดี่ยว ผู้วิจัยสันนิษฐานว่า
การใช้รูปภาษาที่ทำให้ความอ่อนลงเพียงรูปเดียวก็มีผลมากพอที่จะลดผลในแง่ลบของถ้อยคำ จากการวิเคราะห์หน้าที่ พบว่า ผู้พูดจะใช้รูปภาษา
ที่ทำให้ความอ่อนลงเพื่อทำหน้าที่ลดการผูกมัดกับค่าความเป็นจริงของประพจน์ และลดการคุกคามหน้าของผู้ร่วมในการปฏิสัมพันธ์ ส่วน
การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของรูปภาษาที่ทำให้ความอ่อนลงกับปริจเฉท 4 ชนิด พบว่า เมื่ออยู่ในสถานการณ์การสื่อสารแบบเผชิญหน้ากัน ได้แก่ การสนทนาแบบเน้นภารกิจ และการสัมมนาวิชาการ ผู้พูดมีแนวโน้มเลือกใช้รูปภาษาที่ทำให้ความอ่อนลงที่ปรากฏร่วมกันจำนวนหลายรูปภาษาในถ้อยคำเดียว และจะใช้รูปภาษาเพื่อทำหน้าที่ลดการผูกมัดกับค่าความเป็นจริงของประพจน์ และลดการคุกคามหน้าของผู้ร่วมในการปฏิสัมพันธ์ควบคู่กันไป อีกทั้งยังพบว่า เมื่อปฏิสัมพันธ์ในปริบทวิชาการ ผู้พูดมีแนวโน้มเลือกใช้รูปภาษาที่ทำให้ความอ่อนลงที่ปรากฏเดี่ยว ๆ เพื่อเน้นทำหน้าที่ลดการผูกมัดกับค่าความเป็นจริงของประพจน์ ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า รูปภาษาที่ทำให้ความอ่อนลงมีบทบาทสำคัญในการสื่อสารภาษาไทย และทำให้การปฏิสัมพันธ์ดำเนินไปอย่างราบรื่น อย่างไรก็ตาม หากใช้รูปภาษาหลายรูปร่วมกันมากเกินไป อาจทำให้ถ้อยคำของผู้พูดขาดความชัดเจนและความน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ชนิดของปริจเฉทก็ยังมีผลต่อรูปภาษาและหน้าที่ของรูปภาษาที่ทำให้ความอ่อนลง
ผู้พูดจึงควรเลือกใช้รูปภาษาให้เหมาะสมกับปริบทการสื่อสาร