Abstract:
พื้นที่ย่านเมืองเก่าภูเก็ตในปัจจุบันถูกส่งเสริมการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ทำให้เกิดกิจกรรมเชิงพาณิชยกรรมในพื้นที่ย่านเมืองเก่าภูเก็ตเพื่อรองรับการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนลักษณะของการใช้พื้นที่เมืองที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นเมืองท่าค้าขายแลกเปลี่ยนแร่ดีบุกในอดีต ที่เคยมีลักษณะของความเป็นพื้นที่ศูนย์กลางที่มีชีวิตอันเนื่องมาจากการใช้งานอาคารตึกแถวผสมผสานกิจกรรมพาณิชยกรรมและพักอาศัยอยู่ด้วยกัน ทำให้เกิดการใช้งานที่หลากหลาย ร่วมกับลักษณะความถี่ของโครงข่ายการสัญจรที่หนาแน่นในพื้นที่ย่านขนาดเล็กจากลักษณะพิเศษของสถาปัตยกรรมตึกแถว คือ โครงข่ายทางเท้าในร่มหน้าอาคาร หรือ หง่อคาขี่ จนทำให้มีลักษณะของสัณฐานที่ดึงดูด (configurational attractor) วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดประสงค์ในการศึกษารูปแบบเชิงพื้นที่ของย่านเมืองเก่าภูเก็ตด้วยการวิเคราะห์โครงข่ายพื้นที่สาธารณะผ่านช่วงเวลาก่อตั้งจนถึงในปัจจุบัน เพื่อให้เข้าใจถึงการที่มาและการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ย่านเมืองเก่าภูเก็ตและนำเป็นข้อมูลเพื่อการอนุรักษ์พื้นที่ย่านเมืองเก่าในเชิงการใช้พื้นที่สาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ
ผลของการศึกษาพบว่า พื้นที่ย่านเมืองเก่าในเขตพื้นที่ศูนย์กลาง มีศักยภาพในการเข้าถึงและมองเห็นได้ดีในยุคตั้งถิ่นฐาน แล้วลดลงในยุคที่เกิดความซบเซากับพื้นที่ย่านจากหลายปัจจัยส่งผลให้โครงข่ายหง่อคาขี่ปิดตัวลง แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาปัจจุบันเนื่องจากการเริ่มกลับมาอนุรักษ์โครงข่ายหง่อคาขี่อีกครั้ง ปัจจัยสำคัญคือการเกิดพื้นที่ทางในขึ้นในพื้นที่เมืองที่ขยายออกไป สรุปได้ว่าพื้นที่ย่านเมืองเก่าภูเก็ตในปัจจุบันแม้จะกลับมามีศักยภาพมากขึ้นกว่าช่วงที่ซบเซา แต่ขอบเขตศูนย์กลางพื้นที่ย่านที่เกิดการส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่สาธารณะและการอนุรักษ์เอกลักษณ์ของพื้นที่เมืองเก่าภูเก็ตไม่ได้ถูกเชื่อมโยงกับพื้นที่เมืองขยายโดยรอบเท่าที่ควร