Abstract:
หมู่บ้านคีรีวง มีวิถีชีวิตที่สงบและมีสังคมแบบเครือญาติ ถึงแม้ว่าเคยประสบกับภัยพิบัติในอดีตหลายครั้งแต่ชุมชนสามารถพลิกฟื้นกลับคืนมาได้ด้วยการพึ่งพาซึ่งกันและกัน จนได้รับการยอมรับว่าเป็นชุมชนเข้มแข็ง มีอาชีพหลักคือการทำสวนผลไม้ผสม นอกฤดูกาลผลไม้ชาวบ้านมีการรวมตัวกันตั้งกลุ่มอาชีพที่เกิดจากทรัพยากรในชุมชน ในขณะเดียวกันชาวบ้านได้นำบ้านพักอาศัยมาปรับเปลี่ยนและเปลี่ยนแปลงเป็นโฮมสเตย์ เกิดรายได้สู่ครัวเรือน จนกลายเป็นชุมชนต้นแบบในการจัดการธุรกิจท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และได้รับรางวัลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นำมาสู่วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะทางกายภาพของที่พักอาศัยให้เป็นโฮมสเตย์ เพื่อให้ทราบถึงรูปแบบการพักอาศัย การปรับปรุงที่พักอาศัยให้เป็นโฮมสเตย์ ศึกษาแนวคิดด้านการจัดการด้านแหล่งพักอาศัย และกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน
ผลการศึกษาพบว่าองค์ประกอบที่ทำให้ชุมชนคีรีวงนำไปสู่ความยั่งยืนได้นั้นเป็นการประสานความร่วมมือกันระหว่าง ผู้นำ ชาวบ้าน และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน โดยชาวบ้านมีการปรับเปลี่ยนที่พักอาศัยเป็นโฮมสเตย์ ตามลักษณะการใช้พื้นที่ภายในบ้านระหว่างเจ้าบ้านและนักท่องเที่ยว มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้กับสมาชิกในครอบครัวและอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว มีกิจกรรมที่รองรับกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่ม เช่น กิจกรรมร่วมกับวิสาหกิจชุมชน กิจกรรมที่ศึกษาวิถีชีวิตและการผจญภัยธรรมชาติ ผู้นำชุมชนมีหน้าที่ประสานการทำงานระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน หรือองค์กรการพัฒนาอื่น ๆ และคนในชุมชน รวมถึงเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ โดยกระบวนการดังกล่าวเกิดจากการร่วมมือและบูรณาการจากหลายฝ่าย ทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้นำชุมชน กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ชาวบ้าน นำมาซึ่งแนวคิดในการพึ่งพาอาศัยกันของชุมชน สามารถสรุปเป็นแนวทางให้ตอบโจทย์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้ คือ 1.สร้างอัตลักษณ์ผ่านตัวตนชุมชน 2.สร้างความรู้สึกความเป็นเจ้าของให้คนในชุมชน 3.สร้างการเชื่อมโยงโฮมสเตย์กับการท่องเที่ยวในรูปแบบต่าง ๆ 4.สร้างจิตสำนึกที่ดีให้แก่นักท่องเที่ยว กระบวนการจัดการของชุมชนกลายเป็นความยั่งยืนได้นั้นเกิดจากการประสานความร่วมมือกับทุกฝ่ายที่มีการทำความเข้าใจถึงแผนงานกับคนในชุมชนตั้งแต่ต้น เพราะคนคือกุญแจสำคัญที่ทำให้ชุมชนคีรีวงมีความเข้มแข็งและสามารถพัฒนาได้อย่างยั่งยืนต่อไป