Abstract:
จากการศึกษาปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อการดูดซับของสีย้อม 4 ชนิดบนตัวดูดซับ 3 ชนิด พบว่าตัวดูดซับทุกชนิดสามารถดูดซับสีเอซิด สีรีแอคทีฟ และสีไดเร็คได้ดีในสารละลายกรดที่มีค่าพีเอช 5 หรือต่ำกว่า โดยไคโตแซนจะดูดซับสีย้อมดังกล่าวได้ในบริมาณที่สูงกว่าไคตินและเปลือกกุ้ง ตรงข้ามกับสีเบสิกจะถูกดูดซับได้ดีในสารละลายต่างที่มีค่าพีเอช 10 หรือสูงกว่า โดยเปลือกกุ้งจะดูดซับสีเบสิกได้ในปริมาณที่สูงกว่าไคตินและไคโตแซนมาก ปริมาณสีย้อมที่ถูกดูดซับจะเพิ่มขึ้นเมื่อระยะเวลาที่ใช้ในการดูดซับและความเข้มข้นของสารละลายสีย้อมเพิ่มขึ้น แต่จะลดลงเมื่ออนุภาคของตัวดูดซับมีขนาดเพิ่มขึ้น ปริมาณของสีทุกชนิดที่ถูกดูดซับยกเว้นสีเบสิก จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อค่าดีกรีออฟดีอะเซทิลเลชันของไคโตแซนเพิ่มขึ้นยกเว้นสีเบสิก แรงปฏิกิริยาระหว่างประจุเป็นแรงสำคัญที่สุดที่เกี่ยวข้องในการดูดซับของสีย้อมบนตัวดูดซับ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาการคายการดูดซับของสีย้อมที่ค่าพีเอชและอุณหภูมิต่างๆกัน สีย้อมสามารถคายการดูดซับจากตัวดูดซับได้ดีที่อุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียส และค่าพีเอช 10 หรือสูงกว่า ยกเว้นสีเบสิกจะคายการดูดซับได้ดีในสารละลายที่มีค่าพีเอช 3 หรือต่ำกว่า สีรีแอคทีฟจะคายการดูดซับได้น้อยที่สุด ในการกำจัดสีย้อมออกจากน้ำทิ้งของโรงงานฟอกย้อมสิ่งทอก็ให้ผลในทำนองเดียวกันกับการกำจัดสีย้อมออกจากสารละลายของสีย้อมที่สังเคราะห์ขึ้น ไคโตแซนสามารถดูดซับสีแอซิด สีรีแอคทีฟ และสีไดเร็ค ได้ในปริมาณสูงสุดเกือบถึง 72% 61% และ 94% ตามลำดับ ส่วนเปลือกกุ้งสามารถดูดซับสีเบสิกจากน้ำทิ้งได้ในปริมาณสูงถึง 43% ปริมาณสีย้อมที่กำจัดได้จะขึ้นอยู่กับชนิดของสีย้อมในน้ำทิ้ง