Abstract:
บริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดเล็กเป็นกลุ่มธุรกิจที่ต้องเผชิญอุปสรรค ปัญหา และการแข่งขันกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ แต่กลับเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีจำนวนมาก มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ และมีความสามารถในการแข่งขันสูง บทความนี้จึงมุ่งศึกษากลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ รวมถึงภูมิหลังองค์กร โดยการสัมภาษณ์เชิงลึกจำนวน 4 บริษัท จำแนกเป็นบริษัทรูปแบบครอบครัว และบริษัทรูปแบบที่ไม่ใช่ครอบครัว และวิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์คำสำคัญและเปรียบเทียบ
ผลการศึกษาพบว่า 1) บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดเล็กที่เน้นการพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพมหานครส่วนมากเป็นบริษัทอายุไม่เกิน 15 ปีซึ่งมีจำนวนสูงถึง 63.4% 2) จุดเริ่มต้นของธุรกิจขนาดเล็ก ได้แก่ การเล็งเห็นความเป็นไปได้ของตลาด การมีที่ดินเดิม การมีเงินทุน การมีภูมิหลังและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ การเห็นโอกาสในการขยายธุรกิจ และความชื่นชอบในผลิตภัณฑ์บ้านแนวราบตามลำดับ 3) จากกรณีศึกษาพบว่าบริษัทรูปแบบครอบครัวมีทีมผู้บริหารที่มีความสัมพันธ์ในลักษณะเครือญาติทั้งรูปแบบที่ไม่ได้มีการแบ่งหน้าที่ชัดเจน และรูปแบบที่แบ่งตามความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ส่วนบริษัทรูปแบบที่ไม่ใช่ครอบครัวมีทีมผู้บริหารแบ่งตามความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยความชำนาญที่พบร่วมกันอย่างมีนัยยะสำคัญ คือ การแบ่งหน้าที่เฉพาะด้านที่ดิน ด้านการตลาด และด้านการออกแบบก่อสร้าง 4) บริษัทรูปแบบครอบครัวและบริษัทรูปแบบที่ไม่ใช่ครอบครัวต่างมีกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจและโครงสร้างองค์กรที่มีเอกลักษณ์ อยู่รอด และสร้างผลกำไรได้ 5) กลยุทธ์การแข่งขันบริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดเล็กที่สำคัญ คือ กลยุทธ์ความแตกต่างด้านผลิตภัณฑ์ (Differentiation) กลยุทธ์ความเป็นผู้นำด้านต้นทุน (Cost Leadership) และกลยุทธ์การสนองความต้องการเฉพาะกลุ่ม (Focus) 6) ปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทขนาดเล็กแข่งขันได้ คือ กลยุทธ์ความแตกต่างด้านผลิตภัณฑ์ ซึ่งส่งผลให้สถาปัตยกรรมบ้านพักอาศัยในโครงการของบริษัทขนาดเล็กมีเอกลักษณ์ มีความโดดเด่นและแตกต่าง จนสามารถสร้างชื่อเสียง ดึงดูดผู้บริโภคสมัยใหม่ และปิดการขายได้อย่างรวดเร็ว
งานวิจัยฉบับนี้แสดงให้เห็นถึงรูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดเล็กรูปแบบครอบครัวและรูปแบบที่ไม่ใช่ครอบครัว หัวใจสำคัญคือการเลือกใช้กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจที่เหมาะสมกับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจและภูมิหลัง โดยเฉพาะด้านที่ดิน การตลาด การออกแบบ และการเงิน ซึ่งผลการวิจัยจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดเล็ก และหน่วยงานที่กำหนดนโยบายส่งเสริมให้ธุรกิจขนาดเล็กมีความเข้มแข็งและมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดอสังหาริมทรัพย์ต่อไป