Abstract:
ได้พิสูจน์ทราบเอกลักษณ์โดยการระบุชนิดของสารระเหยง่ายในพริกแกงแดง สมุนไพรและเครื่องเทศ ที่เป็นส่วนประกอบย่อยด้วยเทคนิคเฮดสเปซโซลิดเฟส ไมโครเอกซ์แทรกชัน (HS-SPME) ร่วมกับเทคนิคแก๊สโครมาโทกราฟี-แมสสเปกโทรเมตรี (GC-MS) ซึ่งใช้คอลัมน์คะปิลารีประเภท HP-5MS (30m x 0.25mm x 0.25 μm) พบว่าสภาวะที่เหมาะสมในการเตรียมตัวอย่างด้วย HS-SPME คือ สกัดที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียสใช้เวลาในการสกัด 60 นาที จากนั้นสารที่ถูกสกัดซึ่งถูกดูดซับบนไฟเบอร์ชนิด DVB/CAR/PDM จะถูกปลดปล่อยในส่วนฉีดสารที่อุณหภูมิ 250 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 5 นาที ตั้งค่ารายการอุณหภูมิเตาอบของเครื่อง GC เริ่มต้นที่ 50 องศาเซลเซียส ถึง 200 องศาเซลเซียส ด้วยอัตรา 3 องศาเซลเซียสต่อนาที จากนั้นเพิ่มอุณหภูมิจนถึง 250 องศาเซลเซียส ด้วยอัตรา 5 องศาเซลเซียสต่อนาที และคงที่อุณหภูมิสุดท้ายไว้ 2 นาที การระบุเอกลักษณ์ของสารระเหยง่ายพบสารสำคัญทั้งหมด 95 สาร ได้แก่ สารประเภท แอลกอฮอล์ แอลดีไฮด์ คีโตน เอสเทอร์ อีเทอร์ สารประกอบซัลเฟอร์ และไฮโดรคาร์บอน ซึ่งมาจากการเปรียบเทียบกับแมสสเปกตรัมโดยฐานข้อมูล NIST17 และยืนยันด้วยค่า linear retention index (LRI) ชนิดสารระเหยง่ายหลักของแกงแดงมาจาก กระเทียมและหอมแดง พบเป็นสารประกอบกลุ่มซัลไฟด์ พริกพบเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอน แอลกอฮอลล์ เอสเทอร์ และอัลดีไฮด์ และ ตะไคร้พบเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอน อัลดีไฮด์ แอลกอฮอลล์และเอสเทอร์ ตามลำดับ หากทำการศึกษาด้วยวิธีวิเคราะห์องค์ประกอบหลัก (PCA) เพื่อจัดกลุ่มข้อมูลเพิ่มเติม จะทำให้สามารถจำแนกกลุ่มและเปรียบเทียบความแตกต่างของพริกแกงแดงที่ศึกษาได้ ดังนั้นจึงบ่งชี้ได้ว่าสามารถใช้วิธี HS-SPME-GC-MS ในการระบุชนิดสารระเหยง่ายและจะสามารถพิสูจน์เปรียบเทียบพริกแกงแดงจากต่างแหล่งที่มาได้หากใช้งานร่วมกับเคโมเมทริกซ์