Abstract:
การวิจัยครั้งนี้ได้นำอาชีพ 89 อาชีพ ในสังคมไทยไปให้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 827 คนให้ค่าคะแนนเกียรติภูมิโดยใช้มาตรวัดเกียรติภูมิของอาชีพ อาชีพจำแนกได้เป็น 9 กลุ่มอาชีพใหญ่ ๆ คือ กลุ่มวิชาการวิชาชีพ กลุ่มผู้บริหารระดับต่างๆ กลุ่มผู้ปฏิบัติงาน เสมียนพนักงาน กลุ่มผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการค้า กลุ่มผู้ประกอบอาชีพบริการ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ผลิตพนักงานและคนงาน กลุ่มทหาร-ตำรวจ และกลุ่มอื่น ๆ ได้แก่คหบดี ผลการวิจัยพบว่า อาชีพในกลุ่มวิชาการวิชาชีพ และกลุ่มผู้บริหารระดับต่าง ๆ มีเกียรติภูมิสูงกว่ากลุ่มอาชีพอื่น ๆ รองลงมาได้แก่ อาชีพที่เป็นหัวหน้าในกลุ่มผู้ปฏิบัติงาน กลุ่มผู้ประกอบการค้า และกลุ่มอาชีพบริการ และกลุ่มทหารตำรวจ อาชีพที่เหลือในสี่กลุ่มที่กล่าวมานี้และอาชีพในกลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ผลิตพนักงานและคนงาน มีเกียรติภูมิปานกลาง ลดหลั่นลงไปจนถึงค่อนข่างต่ำ ผู้ตอบที่มีความแตกต่างกันในแง่ภาคภูมิศาสตร์ ความเป็นเมืองและชนบท และระดับการศึกษาจะให้เกียรติภูมิต่างกัน ผู้ตอบในภาคใต้ให้คะแนนเกียรติภูมิแก่อาชีพโดยทั่วไปสูงกว่าภาคอื่น ๆ โดยเฉพาะอาชีพในกลุ่มวิชาการวิชาชีพ ผู้ตอบในภาคอีสานให้เกียรติภูมิสูงแก่อาชีพที่ให้ความปลอดภัยแก่ชีวิต และผู้ตอบในภาคกลางให้เกียรติภูมิต่ำแก่กลุ่มทหารตำรวจ ชาวเมืองจะให้เกียรติภูมิสูงแก่กลุ่มอาชีพวิชาการวิชาชีพ กลุ่มผู้บริหารระดับต่าง ๆ และกลุ่มผู้ประกอบการค้า ส่วนชาวชนบทให้เกียรติภูมิสูงแก่กลุ่มอาชีพผู้ปฏิบัติงาน กลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ผลิตพนักงาน และคนงาน กับกลุ่มทหาร-ตำรวจ โดยทั่วไปแล้วชาวชนบทมักให้เกียรติภูมิสูงแก่อาชีพที่ตนรู้จักหรือเกี่ยวข้องด้วย ในแง่ระดับการศึกษา ผู้ตอบที่จบประถมศึกษาจะให้คะแนนต่ำแก่กลุ่มวิชาการวิชาชีพ และกลุ่มผู้บริหาร ในขณะที่ผู้ตอบที่จบมัธยมศึกษาจะให้คะแนนสูงกว่า และผู้ตอบที่จบสูงกว่ามัธยมศึกษาจะให้คะแนนสูงสุด ตรงกับข้ามในกลุ่มอาชีพบริการ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ผลิตพนักงานและคนงาน ผู้ตอบที่จบประถมศึกษาจะให้คะแนนสูงสุด ผู้ตอบที่จบมัธยมศึกษารองลงมา และผู้ตอบที่จบสูงกว่ามัธยมศึกษาต่ำสุด ในกลุ่มอาชีพผู้ปฏิบัติงานและผู้ประกอบการค้าแบบแผนการให้เกียรติภูมิจะคละกัน ผู้ตอบที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจะให้เกียรติภูมิกุล่มอาชีพทหาร ตำรวจ สูงกว่าผู้ตอบกลุ่มอื่น ในการเรียงลำดับเกียรติภูมิของอาชีพ ห้าอาชีพแรกที่มีเกียรติภูมิสูงสุด ได้แก่ รัฐมนตรี กลุ่มอาชีพแพทย์ ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ และเภสัชกร นายพลทหาร ทูต และอธิบดี-ผู้ว่าราชการจังหวัด ตามลำดับ ห้าอาชีพที่มีเกียรติภูมิต่ำที่สุด ได้แก่ หญิงบริการ กระเป๋ารถ โหร-หมอดู ผู้ปฏิบัติงานอาชีพบริการอื่น ๆ เช่น พนักงานประจำลิฟท์ คนเฝ้าประตู คนเผ้ารถ และอาชีพกรรมกรหรือคนงาน ตามลำดับ ผู้ตอบมักให้คะแนนเกียรติภูมิตามภูมิหลังเกี่ยวกับเพศ ภูมิลำเนา ระดับการศึกษา และอาชีพของตน สำหรับเหตุผลที่ผู้ตอบให้สำหรับการให้คะแนนเกียรติภูมิ เหตุผลสำหรับการให้เกียรติภูมิสูงเรียงตามลำดับความสำคัญ ได้แก่ ความมีเกียรติ ความโก้ ความสำคัญ และความมีหน้ามีตา ความมีอำนาจ ความสามารถในการเป็นที่พึ่งได้ รายได้ ความท้าทาย และความเป็นตัวของตัวเอง เหตุผลสำหรับการให้เกียรติภูมิต่ำเรียงตามลำดับความสำคัญ ได้แก่ ความไร้เกียรติและการไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม การใช้แต่แรงกายมี่ใช้ความรู้ การหลอกลวง คอรัปชัน หรือ รัดไถผู้อื่น ความไม่มั่นคงของอาชีพ รายได้ ความไม่เป็นตัวของตัวเอง และความไม่เป็นประโยชน์กับความจำเจน่าเบื่อหน่าย เมื่อเทียบคะแนนเกียรติภูมิของไทยกับของสากลพบว่าโดยส่วนรวมมีความสัมพันธ์กันค่อนข้างสูง มีอาชีพ 20 อาชีพที่ไม่แตกต่างกันเลย ส่วนใหญ่เป็นอาชีพในกลุ่มวิชาการวิชาชีพ กลุ่มผู้ปฏิบัติงาน เกษตรกร บางระดับและกลุ่มผู้ผลิต อาชีพที่มีเกียรติภูมสูงทั้งของมาตรฐานสากลและของไทยเป็นอาชีพที่เน้นเรื่องเกียรติและการยอมรับจากสังคมเหมือน ๆ กัน แต่อาชีพของมาตรฐานสากลเน้นเรื่องอำนาจน้อยกว่าของไทย การวิจัยครั้งนี้ได้จัดระดับอาชีพในสังคมไทยออกเป็น 4 ระดับตามการเกาะกลุ่มของค่าคะแนนเกียรติภูมิ สรุปได้ โครงสร้างการจัดช่วงชั้นทางอาชีพในสังคมไทย แบ่งได้เป็นช่วงชั้นอาชีพที่มีเกียรติภูมิระดับสูง มี 12 อาชีพ ช่วงชั้นอาชีพที่มีเกียรติภูมิระดับปานกลางค่อนข้างสูง 30 อาชีพ ช่วงชั้นอาชีพที่มีเกียรติภูมิปานกลางค่อนข้างต่ำ 31 อาชีพ และช่วงชั้นที่มีเกียรติภูมิค่อนข้างต่ำ 15 อาชีพ เมื่อได้ทดลองนำช่วงชั้นทางสังคมในปัจจุบันไปเปรียบเทียบกับการจัดช่วงชั้นทางสังคมในอดีตซึ่งใช้ศักดินาเป็นตัวกำหนด ได้พบว่ามีความแตกต่างในแง่ที่ว่ามีชนชั้นกลางเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบของอาชีพในช่วงชั้นในและช่วงชั้นล่างยังคงไม่แตกต่างจากการจัดช่วงชั้นในอดีต กล่าวคือ อาชีพในช่วงชั้นสูงเป็นอาชีพที่เกี่ยวข้องกับอำนาจทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ส่วนอาชีพในช่วงชั้นล่างเป็นอาชีพที่ใช้แรงกายเป็นหลัก ในขณะที่ชนชั้นกลางโดยเฉพาะในกลุ่มอาชีพบริการ-ค้าขาย มีโอกาสที่จะเขยิบฐานะทางสังคมขึ้นไป ชนชั้นล่างมีโอกาสน้อยมากที่จะเขยิบฐานะทางสังคมของตนไม่ว่าในอดีตหรือปัจจุบัน