Abstract:
การเหนี่ยวนำผลึกไฮดรอกซีอะพาไทต์บนผ้าไหม สามารถทำได้โดยผ้าไหมซึ่งมีหมู่เอไมด์ในโครงสร้าง สามารถตรึง Ca ได้ดี ทำให้สามารถเหนี่ยวนำให้เกิดไฮดรอกซีอะพาไทต์ (HA) ขึ้นบนผืนผ้าไหมได้ แต่เนื่องจาก HA เกิดได้ดีในภาวะด่าง ซึ่งในภาวะด่าง โปรตีนในเส้นใยในผ้าไหมจะถูกทำลายลง ทำให้ผ้าไหมเกิดความเสียหาย จากการทบทวนวรรณกรรมพบว่า แอลกอฮอล์สามารถช่วยจัดระเบียบโครงสร้างโปรตีนของเจลสกัดจากรังไหมให้มีความแข็งแรงขึ้นได้ ผู้วิจัยจึงเลือกใช้แอลกอฮอล์เพื่อปรับผิวผ้าไหมก่อนการเหนี่ยวนำ HA บนผืนผ้า โดยใช้แอลกอฮอล์ 2 ชนิด คือ Isopropanol และ Ethanol ปรับผิวผ้าไหมก่อนการเหนี่ยวนำ HA จากนั้นนำผ้าไหมที่ผ่านการปรับผิวแล้วไปจุ่มแช่ในสารละลาย CaCl₂ และ Na₂HPO₄ เป็นเวลา 15 นาที โดยทำซ้ำ 7 รอบ ก่อนแช่ค้างคืนใน NaHPO₄ จากนั้นนำไปอบที่ 60 °C แล้วนำไปวิเคราะห์ลักษณะเฉพาะ ซึ่งพบว่าผ้าไหมเกิดผลึก HA ขึ้นเป็นเฟสหลักและหมู่โครงสร้างของผ้าไหมที่วิเคราะห์ด้วย ATR-FTIR เปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย ผลการดูดซับแอมโมเนียของผ้าที่เหนี่ยวนำ HA ที่ไม่ผ่านการปรับสภาพผิวมีการดูดซับที่ดีสุด ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นว่าการใช้แอลกอฮอล์ปรับผิวผ้าไหม แม้จะทำให้เกิดการเหนี่ยวนำ HA ในภาวะด่างได้ แต่แอลกอฮอล์ก็ทำให้โครงสร้างของเส้นใยไหมเปลี่ยนสภาพไป ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการดูดซับแอมโมเนียที่ลดลงด้วย