Abstract:
ในปัจจุบัน พื้นทางเท้าที่สามารถระบายน้ำขังได้โครงสร้างเป็นแบบวัสดุพรุน ลักษณะเด่นของโครงสร้างแบบนี้คือ จะมีรูพรุนเปิดและต่อเนื่องภายในโครงสร้างอยู่จำนวนมาก ทำให้น้ำสามารถไหลผ่านได้ดี อย่างไรก็ตามวัสดุพรุนมีความแข็งแรงที่ไม่สูงมากนัก งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาการใช้ตะกรันที่เกิดขึ้นในเตาอาร์คไฟฟ้าจากอุตสาหกรรมเหล็ก เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตวัสดุพรุน มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสมบัติและโครงสร้างของตะกรันจากเตาอาร์คไฟฟ้า ได้แก่ ความแข็งแรงกดอัด ความสามารถในการระบายน้ำ และความพรุนตัวด้วยการเตรียมส่วนผสมจากตะกรันที่มีขนาดอนุภาค 2 ขนาดโดยใช้ปูนซีเมนต์พอร์ตแลนด์เป็นตัวประสานผลการทดสอบของสมบัติดังกล่าวนี้พบว่าความมีความแข็งแรงกดอัดมีค่ามากขึ้นตามระยะเวลาที่บ่มมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงอัตราส่วนขนาดของตะกรันส่งผลต่อความความแข็งแรงกดอัด ในส่วนของความพรุนตัวและการไหลผ่านของน้ำพบว่ามีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับลักษณะโครงสร้างของรูพรุน อัตราการไหลผ่านของน้ำอาจจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับสัดส่วนของรูพรุนที่อยู่ภายในโครงสร้างเพียงอย่างเดียว แต่อาจจะขึ้นกับความต่อเนื่องของรูพรุนและขนาดของรูพรุนด้วย ดังจะเห็นได้จากชิ้นงานที่ประกอบด้วยอนุภาคหยาบ แม้ว่าจะมีสัดส่วนความพรุนใกล้เคียงกับชิ้นงานอื่น ๆ แต่การไหลผ่านของน้ำเกิดได้ดีกว่ามาก ดังนั้นงานวิจัยในขั้นต่อไปจึงควรพิจารณาศึกษาความต่อเนื่องในโครงสร้างวัสดุพรุนร่วมด้วย