Abstract:
ในปัจจุบันการตรวจจับอารมณ์เข้ามามีบทบาทในการช่วยให้เกิดความตระหนักรู้ถึงอารมณ์ของตนเองมากขึ้น อีกทั้งทางผู้พัฒนามีความสนใจเกี่ยวกับการตรวจจับอารมณ์โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์และเล็งเห็นถึงความสำคัญของการตรวจจับและวิเคราะห์อารมณ์จากบทสนทนา จึงจัดทำโครงงาน “ระบบวิเคราะห์อารมณ์จากบทสนทนาในละครโทรทัศน์ของไทย” โดยมีวัตถุประสงค์ คือ ศึกษาการจำแนกประเภทของอารมณ์ตามบริบทของบทสนทนาในละครโทรทัศน์ภาษาไทย และวิเคราะห์อารมณ์จากบทสนทนา ดังนั้นบทสนทนาจากละครโทรทัศน์ถูกเก็บรวบรวมมาใช้เป็นข้อมูล สำหรับการออกแบบและพัฒนาวิธีการจำแนกประเภทอารมณ์ของบทสนทนา ซึ่งข้อความบทสนทนาที่นำมาวิเคราะห์จะไม่ครอบคลุมคำแสลงและคำที่สะกดผิด โดยผู้พัฒนาระบุอารมณ์ที่วิเคราะห์จากข้อความบทสนทนาออกเป็น 6 อารมณ์ ได้แก่ มีความสุข เสียใจ กลัว ประหลาดใจ โกรธ และรังเกียจ โครงงานนี้พัฒนาขึ้นมาโดยใช้ภาษาไพทอน มีการใช้ไลบรารี PyThaiNLP ในการประมวลผลภาษา และใช้ไลบรารี Sklearn ในการสร้างแบบจำลองการจำแนกข้อมูลด้วยเทคนิคการเรียนรู้ด้วยเครื่อง ทั้งนี้ได้มีการทดลองการพัฒนาแบบจำลองการจำแนกข้อมูลกับเทคนิคการเรียนรู้ด้วยเครื่อง 3 เทคนิค ได้แก่ นาอีฟเบย์ ซัปพอร์ตเวกเตอร์แมชชีนและเคเอ็นเอ็น รวมไปถึงการทำงานร่วมกับ Grid search ซึ่งผลทดสอบการพัฒนาแบบจำลองการจำแนกอารมณ์ของข้อความบทสนทนา พบว่า เทคนิคที่ได้ประสิทธิภาพดีที่สุดคือ ซัปพอร์ตเวกเตอร์แมชชีนร่วมกับ Grid search ผู้พัฒนาคาดหวังว่าโครงงานนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจศึกษาและพัฒนาระบบวิเคราะห์อารมณ์ในภาษาไทยต่อไป