Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสบการณ์การเกิดปัญญาในการทำงานของผู้ให้การปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธที่มีประสบการณ์ด้วยการวิจัยเชิงคุณภาพแนวปรากฏการณ์วิทยาแบบตีความ ผู้ให้ข้อมูลหลักคือผู้ให้การปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธที่มีประสบการณ์การทำงานด้านการปรึกษาแนวพุทธมาอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 ปี จำนวน 6 ราย เก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์โดยใช้คำถามแบบกึ่งโครงสร้าง ผลการวิจัยพบ 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ (1) ความขุ่นใจที่รบกวนขณะทำงานและชีวิตส่วนตัว ซึ่งประกอบด้วย ความขุ่นใจ กวนใจขณะทำงานกับผู้มาปรึกษา (ใจไม่ว่าง ความคิดปั่นป่วน และรับรู้เรื่องราวของผู้รับบริการได้ไม่ชัด) และความทุกข์ใจ รบกวนชีวิตส่วนตัว (ครุ่นคิดในความผิดพลาดในการปรึกษา ไม่พอใจ สงสัย ผิดหวังในตัวเอง และกระตุ้นให้เกิดความทุกข์ใจอื่นๆ ร่วมด้วย) (2) การตระหนัก เข้าใจ มุ่งสู่การแก้ทุกข์ ซึ่งประกอบด้วย การตระหนัก ใส่ใจในทุกข์ที่เกิดขึ้น (สัมผัสรับรู้สภาวะความทุกข์ และเกิดแรงจูงใจที่จะสำรวจและจัดการความทุกข์) การใช้ใจที่สงบ ทบทวนทุกข์ เมื่อมีความพร้อม (ใส่ใจกับความสงบ ความพร้อม และสำรวจและทบทวนทุกข์ที่เกิดขึ้น) การมองเห็นความคาดหวังที่ซ้อนกับทุกข์ที่เกิด (เห็นว่าเหตุของทุกข์มาจากภายในใจ ไม่ตรงความจริง และเข้าไปจัดการกับความคาดหวัง) และการสะสางตะกอนทุกข์ที่กลับมากวนใจ (3) การสร้างเหตุปัจจัยที่เอื้อต่อการเกิดปัญญา ลดทุกข์ มองเห็นความจริง ซึ่งประกอบด้วย สะสมเหตุปัจจัยด้านกุศล ก่อให้เกิดปัญญา ลดทุกข์ (การมีสติสัมปชัญญะ เกิดปัญญาคลายทุกข์ และการใช้สติ สมาธิ และญาณ เห็นแจ้งความเป็นจริง) และการเห็นความจริง ใช้ชีวิตสอดคล้องปัจจุบันขณะ (การอยู่กับปัจจุบันขณะด้วยใจที่เบาสบาย สงบ และการตกผลึกบทเรียนในการคลี่คลายทุกข์) (4) การเห็นคุณค่า การเพาะบ่มสติและปัญญาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประกอบด้วย การมีสติและปัญญาเป็นรากฐานการทำงานและชีวิตส่วนตัว (เห็นว่าปัญญาสำคัญต่อผู้ให้การปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธและเห็นว่าปัญญาสำคัญต่อการดำเนินชีวิต) การฝึกฝนบ่มเพาะสติและปัญญาในชีวิตประจำวัน