Abstract:
พฤติกรรมการแบ่งปันความรู้ เป็นพฤติกรรมสำคัญที่นำมาสู่การเพิ่มความสามารถในการแก้ไขปัญหา ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมในงาน ซึ่งเกิดประโยชน์โดยตรงต่อองค์การในการอาศัยศักยภาพของความรู้จากบุคลากรมาประยุกต์ใช้ โดยเฉพาะในบริบทของการทำงานปัจจุบันที่ผู้คนมีความหลากหลายทางความคิดที่เพิ่มสูงขึ้น งานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความหลากหลายทางการรู้คิดและพฤติกรรมการแบ่งปันความรู้ โดยมีความขัดแย้งในเรื่องงานและความขัดแย้งในเรื่องความสัมพันธ์เป็นตัวแปรส่งผ่านในเส้นทางคู่ขนาน (dual-pathway) และมีงานที่ต้องพึ่งพาซึ่งกันและกันเป็นตัวแปรกำกับ จากการศึกษาบุคลากรที่ปฏิบัติงานเป็นทีมในองค์การเอกชนในประเทศไทย จำนวน 224 คน ด้วยการทดสอบการเป็นตัวแปรส่งผ่านอย่างมีเงื่อนไข (moderated mediation) ผ่านโปรแกรมเสริม PROCESS ใน SPSS ผลการวิจัยพบว่า ความหลากหลายทางการรู้คิดมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการแบ่งปันความรู้ โดยมีความขัดแย้งทั้งสองรูปแบบเป็นตัวแปรส่งผ่านแบบสมบูรณ์ (full mediation) กล่าวคือ ความขัดแย้งในเรื่องงานเป็นตัวแปรส่งผ่านความสัมพันธ์ทางบวก ในขณะที่ความขัดแย้งในเรื่องความสัมพันธ์เป็นตัวแปรส่งผ่านความสัมพันธ์ทางลบ แต่ไม่พบอิทธิพลทางอ้อมเชิงเงื่อนไขของงานที่ต้องพึ่งพาซึ่งกันและกันในความสัมพันธ์ระหว่างความหลากหลายทางการรู้คิดและพฤติกรรมการแบ่งปันความรู้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การศึกษาแสดงให้เห็นว่า ความขัดแย้งในเรื่องงานเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนให้บุคลากรที่มีการรับรู้ถึงความแตกต่างทางการรู้คิดภายในทีมระดับสูงมีแนวโน้มที่จะแสดงพฤติกรรมการแบ่งปันความรู้ขึ้น ซึ่งองค์การควรตระหนักถึงความสำคัญของแลกเปลี่ยนประเด็นปัญหาในงานและการบริหารทีมทำงานเพื่อสนับสนุนการแบ่งปันความรู้ให้เกิดขึ้นในการทำงานร่วมกันของบุคลากรที่มีความหลากหลายในองค์การ