Abstract:
งานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของความร่วมรู้สึกทางอารมณ์ เจตคติที่มีต่อการต่อต้านการรังแก การรู้สึกรับผิดชอบ การรับรู้การยอมรับจากเพื่อน การรับรู้ความคาดหวังของเพื่อน ความรุนแรงของเหตุการณ์ กับพฤติกรรมการปกป้องเหยื่อในรูปแบบการแสดงบทบาทเป็นผู้ปกป้องและผู้สังเกตการณ์ในเหตุการณ์การรังแกรูปแบบต่างๆ โดยมีผู้เข้าร่วมงานวิจัยคือ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย อายุระหว่าง 15-19 ปี จำนวน 222 คน ผู้วิจัยวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์สมการถดถอยโลจิสติกด้วยการใส่ตัวแปรทำนายเป็นลำดับขั้น (Hierarchical logistic regression analysis) ผลการวิจัยพบว่า อัตราการแสดงบทบาทผู้ปกป้องสำหรับสถานการณ์การรังแกทางคำพูด สังคม และร่างกาย คิดเป็นร้อยละ 89.2 89.2 และ 89.6 ตามลำดับ โดยความรุนแรงของเหตุการณ์มีความสัมพันธ์กับการแสดงบทบาทผู้ปกป้องในสถานการณ์การรังแกทุกประเภทอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และสามารถทำนายอัตราการแสดงบทบาทผู้ปกป้องสำหรับสถานการณ์การรังแกทางคำพูด ทางสังคม และทางร่างกาย ได้เพิ่มขึ้นจากสัดส่วนพื้นฐานเป็นร้อยละ 91.4 89.6 และ 89.6 ตามลำดับ กล่าวคือ หากผู้เห็นเหตุการณ์รับรู้ว่าสถานการณ์นั้นมีความรุนแรงจะตัดสินใจช่วยเหลือเหยื่อมากกว่านักเรียนที่คิดว่าเหตุการณ์นั้นไม่รุนแรง โดยผลการวิจัยสามารถนำไปประยุกต์สำหรับการพัฒนาโปรแกรมการต่อต้านการรังแกในสถานศึกษาสำหรับนักเรียนที่เห็นเหตุการณ์โดยสร้างเสริมการตระหนักรู้ถึงความรุนแรงของเหตุการณ์รังแก ซึ่งจะช่วยเพิ่มพฤติกรรมของผู้ปกป้องให้กับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย