Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของความซับซ้อนของงาน การมีอำนาจตัดสินใจในงาน การจัดการทรัพยากรเพื่อปรับตัวกับอายุที่เพิ่มขึ้น และความผูกพันในงานของผู้ใหญ่วัยกลางคน โดยมีการรับรู้โอกาสในการทำงานเป็นตัวแปรกำกับ ซึ่งได้ทำการศึกษาโดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างผู้ใหญ่วัยกลางคนจำนวน 200 คน ลักษณะโดยส่วนใหญ่ของกลุ่มตัวอย่างเป็นเพศหญิง (ร้อยละ 62.50) มีอายุระหว่าง 40-44 ปี (ร้อยละ 45.50) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี (ร้อยละ 46.50) อายุงานในองค์การปัจจุบันอยู่ระหว่าง 1-10 ปี (ร้อยละ 38.50) ประเภทขององค์กรที่ทำงานเป็นภาครัฐ (ร้อยละ 70.00) และตำแหน่งงานที่ทำคือพนักงานระดับปฏิบัติ (ร้อยละ 60.00) จากนั้นนำข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างดังกล่าวมาวิเคราะห์ด้วยสถิติเชิงพรรณนาและสถิติเชิงอนุมานรวมทั้งการวิเคราะห์ความถดถอยเชิงพหุ (Multiple Regression Analysis) ผลการวิจัยพบว่าตัวแปรอิสระทั้ง 3 ตัวแปร ได้แก่ ความซับซ้อนของงาน การมีอำนาจตัดสินใจในงาน และการจัดการทรัพยากรเพื่อปรับตัวกับอายุที่เพิ่มขึ้นมีความสัมพันธ์ทางบวกกับความผูกพันในงาน โดยมีรายละเอียดค่าทางสถิติดังนี้ ความซับซ้อนของงาน (B = .187, p < .01) การมีอำนาจตัดสินใจในงาน (B = .348, p < .01) และการจัดการทรัพยากรเพื่อปรับตัวกับอายุที่เพิ่มขึ้น (B = .240, p < .05) มีความสัมพันธ์ทางบวกและร่วมกันอธิบายความผูกพันในงาน ซึ่งตัวแปรอิสระทุกตัวสามารถร่วมกันอธิบายความแปรปรวนของความผูกพันในงานได้ร้อยละ 31.7 ในขณะที่การรับรู้โอกาสในการทำงานไม่ได้มีบทบาทในฐานะตัวแปรกำกับของความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต้นทั้ง 3 ตัวแปร ได้แก่ ความซับซ้อนของงาน (B = .014, n.s.) การมีอำนาจตัดสินใจในงาน (B = -.025, n.s.) และการจัดการทรัพยากรเพื่อปรับตัวกับอายุที่เพิ่มขึ้น (B = .104, n.s.) ที่มีความสัมพันธ์ต่อความผูกพันในงาน โดยประโยชน์จากงานวิจัยที่ได้นี้ทำให้ทราบถึงปัจจัยที่แสดงถึงทิศทางและระดับความสัมพันธ์ของความผูกพันในงานของผู้ใหญ่วัยกลางคน สำหรับการประยุกต์ใช้ในองค์กร คือ การให้ความสำคัญกับการพัฒนาบริบทต่าง ๆ ในการทำงานให้มีความสอดคล้องกับพนักงานในแต่ละช่วงวัย ทั้งในด้านลักษณะของงาน (Work Characteristics) ได้แก่ ความซับซ้อนของงาน และการมีอำนาจตัดสินใจในงาน รวมถึงกลยุทธ์การสูงวัยอย่างประสบความสำเร็จ (Successful aging strategies) ซึ่งเป็นการจัดการทรัพยากรเพื่อปรับตัวกับอายุที่เพิ่มขึ้น ในการสร้างแรงจูงใจคนทำงานวัยกลางคนในการพัฒนาการทำงานและดึงศักยภาพการทำงานของบุคคลช่วงวัยกลางคนให้สูงขึ้น ซึ่งปัจจัยที่กล่าวไปข้างต้นนั้นเป็นสิ่งที่บุคคลควรตระหนักเช่นเดียวกัน เพื่อส่งเสริมความผูกพันในงานที่สะท้อนถึงประสิทธิภาพในการทำงานและการมีสุขภาวะจิตที่ดีในการทำงาน