Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเหนื่อยหน่ายตามทฤษฎีข้อเรียกร้องในงานและทรัพยากรในงาน โดยทดสอบอิทธิพลของปฏิสัมพันธ์สามทางระหว่างข้อเรียกร้องในงานที่ท้าทาย ข้อเรียกร้องในงานที่เป็นอุปสรรค และความสามารถในการฟื้นพลังที่มีต่อความเหนื่อยหน่ายด้วยสถิติวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบเชิงชั้น โดยแยกศึกษาสององค์ประกอบของความเหนื่อยหน่าย ได้แก่ ความรู้สึกอ่อนล้าและการเมินเฉยต่องาน ในกลุ่มพนักงานบริษัทเอกชนในประเทศไทยจำนวน 200 คน ผลการวิจัยพบอิทธิพลทางตรง ดังนี้ 1) ข้อเรียกร้องในงานที่ท้าทายมีอิทธิพลทางบวกต่อความรู้สึกอ่อนล้า (β = .13, p < .05) 2) ข้อเรียกร้องในงานที่เป็นอุปสรรคมีอิทธิพลทางบวกต่อความรู้สึกอ่อนล้า (β = .24, p < .01) และมีอิทธิพลทางบวกต่อการเมินเฉยต่องาน (β = .37, p < .01) 3) ความสามารถในการฟื้นพลังมีอิทธิพลทางลบต่อความรู้สึกอ่อนล้า (β = -.61, p < .01) และมีอิทธิพลทางลบต่อการเมินเฉยต่องาน (β = -.76, p < .01) สำหรับปฏิสัมพันธ์สามทางระหว่างข้อเรียกร้องในงานที่ท้าทาย ข้อเรียกร้องในงานที่เป็นอุปสรรค และความสามารถในการฟื้นพลังที่มีต่อความเหนื่อยหน่าย ไม่พบอิทธิพลกำกับอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่อย่างไรก็ตาม พบว่า ข้อเรียกร้องในงานที่เป็นอุปสรรคมีอิทธิพลกำกับทางบวกต่อความสัมพันธ์ระหว่างข้อเรียกร้องในงานที่ท้าทายกับการเมินเฉยต่องาน (β = .17, p < .05) ผลการวิเคราะห์เพิ่มเติม พบว่า ณ ระดับของข้อเรียกร้องในงานที่เป็นอุปสรรคต่ำ มีอิทธิพลกำกับความสัมพันธ์ระหว่างข้อเรียกร้องในงานที่ท้าทายต่อการเมินเฉยต่องานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (β = -.25, p < .01) กล่าวคือ การเมินเฉยต่องานของพนักงานจะลดลง ภายใต้เงื่อนไขของข้อเรียกร้องในงานที่เป็นอุปสรรคอยู่ในระดับต่ำและข้อเรียกร้องในงานที่ท้าทายอยู่ในระดับสูง