Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างภาระงานต่อความเหนื่อยล้าในการทำงาน และศึกษาอิทธิพลกำกับของงานที่มีความหมายต่อความสัมพันธ์ระหว่างภาระงานกับความเหนื่อยล้าในการทำงาน กลุ่มตัวอย่างเป็นพนักงานรับฝากพัสดุ องค์การขนส่งและโลจิสติกส์แห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร จำนวน 441 คน รวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม ประกอบด้วย (1) ข้อคำถามข้อมูลทั่วไป เช่น เพศ อายุงาน (2) มาตรวัดภาระงาน (workload scale) 3 ด้าน ได้แก่ ด้านร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ (3) มาตรวัดงานที่มีความหมาย (the Work and Meaning Inventory scale: WAMI scale) และ (4) มาตรวัดความเหนื่อยล้าในการทำงาน (the Three-Dimensional Work Fatigue Inventory: 3D-WFI scale) 3 ด้าน ได้แก่ ด้านร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ ผลการวิเคราะห์พบว่า งานที่มีความหมายมีอิทธิพลกำกับทางลบต่อความสัมพันธ์ระหว่างภาระงานทางจิตใจกับความเหนื่อยล้าในการทำงานด้านจิตใจ (β = -.24, p < .05) และมีอิทธิพลกำกับทางลบต่อความสัมพันธ์ระหว่างภาระงานทางจิตใจกับความเหนื่อยล้าในการทำงานด้านอารมณ์ (β = -.26, p < .05) อย่างมีนัยสำคัญ งานวิจัยนี้ยืนยันสมมติฐานหลักที่ว่า การที่พนักงานรับรู้ถึงคุณค่าและงานที่มีความหมายจะช่วยลดความเหนื่อยล้าในการทำงานด้านจิตใจและอารมณ์ อันเกิดจากความตึงเครียดของภาระงานทางด้านจิตใจได้ ดังนั้น องค์การควรมีการสนับสนุนในด้านการรับรู้ถึงงานที่มีความหมายของพนักงาน เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดความเหนื่อยล้าในการทำงานโดยเฉพาะด้านจิตใจและด้านอารมณ์