Abstract:
งานวิจัยเรื่องกรรมวิธีการผลิตซออู้ของครูอวรัช ชลวาสิน มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษามูลบทที่เกี่ยวข้องกับประวัติการสร้างซออู้ ศึกษาประวัติครูอวรัช ชลวาสิน ศึกษากรรมวิธีการผลิตซออู้และปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพเสียงซออู้ โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ
ผลการวิจัยพบว่า ครูอวรัช ชลวาสินได้ทดลองประดิษฐ์ซอด้วงคันแรกตั้งแต่อายุ 12 ปี หลังจากนั้นจึงเริ่มสั่งสมความรู้ด้านดนตรีไทย งานศิลปกรรม ความรู้ด้านวิศวกรรมตลอดมาและได้เปิดโรงงานผลิตเครื่องดนตรีไทยชื่อว่า โรงงานสายเอก จนกระทั่งประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะซออู้ ไม้ที่ใช้ผลิตซออู้ของครูอวรัช มีทั้งหมด 9 ชนิด คือ ไม้ชิงชัน ไม้พยุง ไม้สาธร ไม้แก้ว ไม้ดำดง ไม้มะริด ไม้มะเกลือ ไม้พญางิ้วดำ และไม้ Snakewood การผลิตซออู้มีวัสดุอุปกรณ์ทั้งหมด 16 ประเภท กรรมวิธีการผลิตซออู้มี 8 ขั้นตอน ได้แก่ 1. การคัดเลือกกะลาและการแกะสลักลาย 2. การขึ้นหน้าซอ 3. การกลึงคันทวนลูกบิดและคันชัก 4. การเจาะคันทวนประกอบลูกบิด 5. การขึ้นหางม้า 6. การปรับบัวเข้ากะโหลก 7. การทำสี 8. การประกอบซอและปรับแต่งเสียง ลักษณะเฉพาะที่ปรากฏในการผลิตซออู้ของครูอวรัช คือ โครงสร้างยึดตามแบบกระสวนดุริยบรรณ หนังสำหรับขึ้นหน้าซออู้ การผูกลายแกะแบบทับซ้อน มุมมีดในการแกะที่ใช้พรางตาและก่อให้เกิดมิติ การคำนวณช่องลมในการผูกลาย การออกแบบลายเฉพาะของแต่ละคัน การเดินเส้นไม้พุดรอบขอบหนัง และการประยุกต์ใช้เครื่องมือบนพื้นฐานความรู้ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ ปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพเสียงซออู้มี 9 ปัจจัย ได้แก่ 1. การคัดเลือกขนาดกะโหลก 2. การออกแบบลายแกะและรูระบายเสียง 3. การพอกและฝนขอบปากกะโหลก 4. การใช้หนังธรรมชาติ 5. การปรับแต่งหมอนซอ 6. การเลือกสายซอ 7. การพันรัดอก 8. น้ำหนัก ขนาดและความตึงของคันชัก และ 9. ความรู้ด้านดนตรีไทย