Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่อง การอนุรักษ์และพัฒนานาฏยศิลป์ของภาควิชานาฏยศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีวัตถุประสงค์เพื่อการวิเคราะห์การแสดงที่อนุรักษ์และพัฒนาของภาควิชานาฏยศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิธีดำเนินวิจัยด้วยการค้นคว้าเอกสาร สัมภาษณ์ และสังเกตการณ์
ผลวิจัยพบว่า ภาควิชานาฏยศิลป์มีจุดมุ่งหมายให้นิสิตผู้ศึกษามีทั้งกระบวนการอนุรักษ์และกระบวนการพัฒนาควบคู่กันไป ไม่ได้มุ่งเน้นไปทางใดทางหนึ่ง เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ให้นิสิตได้ฝึกประสบการณ์วิชาชีพทั้งจากการศึกษาและการแสดงผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ฝึกการดำเนินงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ ส่งผลให้นิสิตเกิดสำนึกที่ดีต่อการพัฒนางานทางด้านนาฏยศิลป์ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจต่อทั้งตัวนิสิตและภาควิชานาฏยศิลป์ มีการผลิตศิลปินบัณฑิตที่มีความสามารถในการแสดงที่หลากหลายและเป็นนักวิชาการทางด้านนาฏยศิลป์สู่สังคมนาฏยศิลป์ไทยอย่างสม่ำเสมอ การอนุรักษ์ผลงานทางด้านนาฏยศิลป์ของภาควิชานาฏยศิลป์จึงถือเป็นการพัฒนาความสามารถของผู้ศึกษาทางด้านนาฏยศิลป์ โดยวิเคราะห์จากกรณีศึกษาละครภาควิชานาฏยศิลป์เฉพาะนาฏยศิลป์ไทยทั้งหมด 8 เรื่อง ได้ข้อสรุปว่าตลอดระยะเวลา 31 ปี ภาควิชานาฏยศิลป์ เกิดกระบวนการสร้างงานนาฏยศิลป์ในรูปแบบต่าง ๆ ที่สนองต่อนโยบายของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาและประเทศชาติ ในการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบของการแสดงก็ยังคงไว้ซึ่งโครงสร้างของละครต้นแบบ ปรับเปลี่ยนรูปแบบของการแสดงไปตามตัวแปรต่าง ๆ โดยไม่ขัดต่อจารีต เพื่อให้การแสดงมีความเหมาะสมกับเหตุการณ์หรือสถานนั้น ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับงานทางด้านนาฏกรรมที่มีมาแต่เดิมให้สอดรับกับความต้องการของยุคสมัยและคงอยู่สืบไป